นายกฯปลื้มอานิสงส์ปรับโครงสร้าง “บีโอไอ” ทันสมัย หนุนส่งตัวเลขลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง แม้โควิดระบาด ชี้นักลงทุนเชื่อมั่นมาตรการสาธารณสุขไทย ด้านบีโอไอโชว์ปี 64 ยอดขอส่งเสริมทะลุ 6.4 แสนล้านบาท โต 59% ชี้ FDI หนุนเพิ่มขึ้นกว่า 163% ด้านบอร์ดไฟเขียวมาตรการส่งเสริมภาคเกษตร หนุนไทยสู่ ไบโอ ฮับภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมศูนย์การค้าผลผลิตทางการเกษตรระบบดิจิทัล
วันที่ 4 ก.พ. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการและแผนงานในระยะต่อไปของบีโอไอ ซึ่งตนได้สั่งให้ปรับโครงสร้างบีโอไอให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาษีและด้านต่างๆ ที่ไทยต้องเตรียมความพร้อม ดังนั้น การลงทุนสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆจะต้องมีการเตรียมการด้านใหม่ๆออกมา เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ในประเทศให้ได้มากยิ่งขึ้น
“จากที่ได้รับรายงานเมื่อเปรียบเทียบสถิติก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาดมาถึงปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 พบว่ามีสถิติการลงทุนสูงขึ้นเมื่อประเมินจากข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการลงทุนจริงมากขึ้น ซึ่งอาจจะเพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปไหนไม่ค่อยสะดวกมากนัก ส่งผลให้นักลงทุนมีโอกาสอยู่ในประเทศไทยได้เล็งเห็นศักยภาพของประเทศ ไทย และนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นเรื่องการดูแลสุขภาพให้กับบริษัทและแรงงานของเขาที่ไม่จำเป็นต้องปิดกิจการ อันนี้เขาชื่นชมเรามา ก็เป็นโอกาสของพวกเรา ของประเทศเรา”
ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า สถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนโครงการรวม 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูง จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท รองลงมา คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 38,567 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 29,669 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 340,490 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม ขณะที่สำหรับพื้นที่เป้าหมายอีอีซี มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 453 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 220,500 ล้านบาท โดยจังหวัดระยองมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 112,740 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 74,550 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุนรวม 33,210 ล้านบาท
นอกจากนี้กิจการในกลุ่ม BCG ซึ่งครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ในปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และตั้งแต่ปี 2558 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ
นางสาวดวงใจ กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร และเปิดประเภทกิจการใหม่ ได้แก่ กิจการศูนย์การค้าผลิตผลทางการเกษตรระบบดิจิทัล และกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และทบทวนสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ไบโอ ฮับตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ขณะเดียวกันยังเห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการใหม่ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ได้แก่ กิจการศูนย์การค้าผลิตผลทางการเกษตรระบบดิจิทัล เพื่อเป็นการยกระดับภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ต้องมีแพลตฟอร์มสำหรับให้บริการเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสนับสนุนให้เกิดระบบการติดตามและปรับปรุงควบคุมคุณภาพผลผลิต โดยจะต้องจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรในรูปแบบ B2B เท่านั้น
รวมทั้งได้เปิดประเภทกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รองรับสถานประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตร เกษตรแปรรูป อาหาร รวมทั้งบริการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร โดยจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ ได้แก่ ห้องปฎิบัติการ/ทดสอบ สถาบันฝึกอบรมหรือพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรหรืออาหาร ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา โดยมีเงื่อนไขพื้นที่นิคมหรือเขตไม่น้อยกว่า 200 ไร่ และห้ามตั้งในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ