สหรัฐผวาหนัก!?นักลงทุนชี้วิกฤตศ.กำลังมา Fed ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด เงินเฟ้อคุมไม่อยู่ค่าดอลลาร์ดิ่งเหว

604

อาการตื่นตระหนกของตลาดหลักทรัพย์และตลาดคริปโต ชี้ให้เห็นปัจจัยลบทั้งๆที่สหรัฐป่าวประกาศว่า เศรษฐกิจแข็งแกร่งยิ่งนัก เรื่องนี้ ขาใหญ่นักลงทุนหลักทรัพย์ของสหรัฐ ฟันธงว่า เฟดแห่งสหรัฐตัดสินใจ’สายเกินไป’ ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งไม่หยุด หลังจากดำเนินการพิมพ์เงินเพิ่มไม่หยุดมาตลอดปี และจะแก้ปัญหาแบบเดิมๆคือพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบอีก ซึ่งจะกระทบทั้งโลกและซ้ำเติมค่าดอลลาร์ที่ตกต่ำลงให้ย่ำแย่ไปกว่าเดิม ไม่ว่าจะพยายามทำให้ภาพพจน์เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งอย่างไร ก็จะคุมเงินเฟ้อไม่อยู่เพราะบัดนี้โดยภาพรวมทะลุเพดานไปแล้วกว่า 20%

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวสปุตนิกเปิดเผยว่า ไคล์ โชสแต๊ค(Kyle Shostak) ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนหลัก Navigator Principal Investors แห่งสหรัฐฯ   ได้วิเคราะห์ถึง ความพยายามของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเกิดจากแรงหนุนของนโยบายการพิมพ์เงินของสหรัฐเพิ่มนั้น  เป็นการตัดสินใจที่ช้าเกินไปอย่างน้อย 6 เดือน 

ก่อนหน้านี้เจอโรม พาวเวลล์ (Federal Reserve Chairman Jerome Powell) ประธานเฟด ประกาศว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในไม่ช้านี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเกินเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% ต่อปีและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นสะท้อนว่า สถานการณ์วิกฤตเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเหตุทำให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผิดหวังอย่างเห็นได้ชัดถึงกับออกอาการสบถใส่นักข่าวฟ็อกซ์นิวส์อย่างหยาบคายเพราะยิงคำถามจี้ใจดำเรื่องนี้ขึ้นมา

สแต๊คกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 7% และยังพุ่งอยู่ เป็นผลงานของนโยบายการพิมพ์เงินของเฟดเอง ขณะนี้ สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการเติบโตอย่างฉับพลันโดยการใส่เงินเข้าไปในระบบ แต่พื้นฐานเศรษฐกิจจริงยังไม่ขยับ มีผลกระทบตามมาอย่างมาก ไม่เพียงแต่ส่งผลกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ยังรวมถึงทั้งโลกด้วย

เขาข้อสังเกตว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และปธน.โจ ไบเดน ได้อัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับโรคระบาด แต่ไม่ได้ใช้มาตรการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริงทั้งหมด สหรัฐฯจึงเห็นแรงกดดันที่สูงขึ้น ต่อราคาผู้บริโภค และภาพรวมเศรษฐกิจวกกลับไปสู่เส้นทางของการเติบโตแต่ไม่มีพื้นฐานจริงรองรับ

สแต๊คกล่าวว่าไม่มีใครควรคาดหวังว่าค่าจ้างจะยังคงเติบโต 4% ต่อปี อสังหาริมทรัพย์ 13% และตลาดตราสารทุน 20% ตลอดไป เขาเสริมว่าตะกร้าผู้บริโภคโดยประเมิน สูงขึ้นจน “ทะลุหลังคา” โดยเฉลี่ยแล้วมากกว่า 20%ด้วยซ้ำ

โชสแต๊คกล่าวว่า เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจโลก เปรียบเทียบกับการดูแลสุขภาพแล้วเปรียบเหมือนกับว่าขณะที่เฟดกำลัง “ไอ” โลก “ก็จะเป็นหวัด” แนวโน้มการเติบโตในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จึงมีความไม่แน่นอนมากขึ้น 

“หลายประเทศกำลังดิ้นรนเพื่อรับมือการระบาดโควิด งบประมาณสาธารณะของพวกเขาก็ใกล้จะหมดแรง อัตราเงินเฟ้อซ้ำเติมทำให้ผู้บริโภคยากจนลง ในขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้สินของบริษัทเอกชนก็กำลังกองพะเนินอยู่” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว เสริมว่าในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์กำลังตกต่ำอยู่แล้วยิ่งทำให้มูลค่าถดถอยลงอีก 

สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงเพราะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทีใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือควบคุมโลกมายาวนาน

ล่าสุดการคาดการณ์หลักของตลาดมองว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ย 5-6 ครั้งภายในปีนี้ ไม่ใช่ 3 ครั้งอย่างที่แถลงอ้ำๆอี้งๆ และคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 1.25-1.5% ขณะที่ราคาบ้านในสหรัฐฯ ดีดตัว 25-40% สูงสุดในรอบ 30 ปี 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า FED สหรัฐเองก็ได้รับอิทธิพลจากการที่ธนาคารกลางแห่งอื่น ๆ อย่างเช่น Bank of England:BOE  เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปล่วงหน้าแล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าBOE จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ และกำลังจะมีประเทศอื่น ๆ อีกมากมายที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามมา

จากคำพูดของ ส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่ายุคนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นประวัติการณ์กำลังจะจบลง และกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อ ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาในระยะยาวไปแล้วอย่างไม่อาจปิดบังได้อีกต่อไป

หาก FED มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5-6 ครั้งจริง มันจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยความเร็วที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว (นับตั้งแต่ปี 1990) ซึ่งแน่นอนว่าสัญญาณเช่นนี้ไม่ใช่สภาวะปกติแล้ว

ลุยกิ สเปอร์แรนซ่า(Luigi Speranza) นักวิเคราะห์จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บีเอ็นพี พาริบาส(BNP Paribas) มองว่า FED จะต้องขึ้นดอกเบี้ยถึง 6 ครั้งภายในปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ มอง 5-6 ครั้งและอาจเป็นไปได้ที่ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก +0.3% จากเดิม 0.25% ขณะที่บางคนก็มองไปถึง +0.5% เลยทีเดียว

ทางฝั่งแดริโอ เพอร์กิ้นส์(Dario Perkins) นักเศรษฐศาสตร์จากทีเอส ลอมบาร์ด(Managing Director:TS Lombard) ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่าตลาดการเงินโลกควรเตรียมเผชิญภาวะที่ “เป็นหลุมเป็นบ่อ”ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอนแล้ว

เพอร์กิ้นส์มองว่า “อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมาย เศรษฐกิจใกล้จะถึงการจ้างงานเต็มอัตราแล้ว และการประเมินมูลค่าทรัพย์สินก็ดูจะสูงเกินไปเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นทาง FED อาจจำเป็นต้องกระชับนโยบายอย่างเข้มงวดมากกว่าที่นักลงทุนคิดเอาไว้ และสิ่งนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ชัดเจนต่อภาคการเงิน เว้นเสียแต่ว่า อัตราดอกเบี้ยดุลยภาพ* จะพังทลายลง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยดุลยภาพ หรืออิควิลิเบรียม อินเทอร์เรส เรท (equilibrium interest rate) หมายถึงระดับดอกเบี้ยที่ทำให้ Money Demand และ Money Supply มีค่าเท่ากัน และเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างการเร่งกระตุ้น หรือเหยียบเบรกทางเศรษฐกิจ หมายความว่า หากระดับดอกเบี้ยสูงไปกว่านี้จะทำให้ Money Supply มากกว่า Money Demand แปลว่าเศรษฐกิจกำลังถูกชะลอโดยการขึ้นดอกเบี้ย  แต่หากดอกเบี้ยต่ำไปกว่านี้จะมี Money Demand สูงกว่า Money Supply ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจกำลังถูกกระตุ้นโดยการลดดอกเบี้ย

ซึ่งการพังทลายลงของอัตราดอกเบี้ยดุลยภาพ หมายถึงการที่ไม่มีระดับดอกเบี้ยใดทำให้ Money Demand และ Money Supply เท่ากันได้เลย ดังนั้นหากอัตราดอกเบี้ยดุลยภาพพังทลายลงไปแล้ว นโยบายดอกเบี้ยของ FED ก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป และนั่นเป็นเหตุผลที่ เพอร์กิ้นส์เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่ระดับดอกเบี้ยดุลยภาพจะพังทลายลง 

แต่อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ ดูอาการผิดปกติของตลาดหุ้นและตลาดคริปโตทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ค่อนข้างตื่นตระหนก อ่อนไหว แกว่งขึ้น-ลงตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่สหรัฐประกาศว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่งในรอบ 11 ปีเมื่อปี 2020/2565และไอเอ็มเอฟคาดว่าปีนี้สหรัฐเศรษฐกิจจะโตแค่ 3.7%