หมอเหรียญเดือดจัด!นพ.หนุ่มหมิ่นในหลวงร.9รุนแรง แจ้ง2รพ.ไล่ออกแล้ว

15019

จากที่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ช่วงเวลาประมาณ 22.05 น. พลตรีนายแพทย์ เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กโดยระบุถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับนายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งซึ่งมีการเผยแพร่อยู่ในโลกโซเชียลฯว่าลบหลู่หมิ่นพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเนื้อหาที่หมอเหรียญทอง โพสต์ไว้มีดังนี้

นายแพทย์ ศราวิน ทองรอง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน สำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้โพสต์ข้อความวิวาทะในโลกออนไลน์ด้วยการใช้สรรพนามลบหลู่พระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โรงพยาบาลใดที่รับนายแพทย์คนนี้ทำงานไม่ว่าจะ Full Time หรือ Part Time ขอให้เลิกจ้างมันเสียโดยเร็ว มิฉะนั้นผมจะดำเนินมาตรการทางสังคมต่อต้าน โรงพยาบาลต้นสังกัดอริราชศัตรูคราบเสื้อกาวน์ตัวนี้อย่างรุนแรง

หมายเหตุ ขอให้ โรงพยาบาลขอนแก่น ตรวจสอบด้วยว่ามี นายแพทย์คนนี้ในสังกัดด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ต่อมา เวลาประมาณ 23.08 น. หมอเหรียญทอง ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กอีกครั้ง โดยเป็นการแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินการต่อนายแพทย์หนุ่มคนดังกล่าวว่า

ผมขอขอบพระคุณ โรงพยาบาลจอมเทียน ที่ไล่ออก นายแพทย์ ศราวิน ทองรอง ที่ลบหลู่พระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 อย่างรวดเร็วเด็ดขาด ดีมากครับ

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่า  นายแพทย์ ศราวิน ทำงานพาร์ทไทม์ อยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ระยอง ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องราวการกระทำที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวเกิดขึ้นก็ปรากฏว่าทาง โรงพยาบาลกรุงเทพ ระยอง ได้ออกหนังสือแจ้งว่า นพ.ศราวิน ทำงาน part time ที่ ER และทางโรงพยาบาลได้ทราบเรื่องแล้ว จึงให้นายแพทย์ ศราวิน พ้นสภาพออกไปโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564

นอกจากนี้ยังพบว่า ทางโรงพยาบาลต้นสังกัด คือ โรงพยาบาลจอมเทียน ยังได้ออกหนังสือแจ้งต่อการดำเนินการต่อนายแพทย์ ศราวิน ซึ่งเป็นแพทย์ประจำของโรงพยาบาล ให้พ้นสภาพจากการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลด้วย เพราะประพฤติไม่เหมาะสมผิดระเบียบของบริษัท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564 ด้วยเช่นกัน

เช่นนี้เองที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในโลกโซเชียลฯ และสังคมภายนอกว่าการกระทำของนายแพทย์หนุ่มนั้น นอกจากโดนไล่ออกจากงานแล้วยังมีความผิดใด ที่สมควรจะต้องรับโทษตามกระบวนการทางกฎหมายอีกหรือไม่ ซึ่งก็พบอีกสองฐานความผิดดังนี้

ถอนใบประกอบวิชาชีพ โดยต้องรายงานไปถึง แพทยสภา นั่นก็คือการ เพิกถอนใบอนุญาตในอาชีพหมอ เพราะพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเข้าข่ายทำผิดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่ง วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๙

หมวด ๒ หลักทั่วไป

ข้อ ๕ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรม และเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง

ข้อ ๖ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ประพฤติหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

และฐานความผิดโทษทางอาญา นั่นคือ มาตรา 112 ซึ่งความผิดนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย เคยกล่าวไว้ถึงแตกต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไปอย่างไร หรือใครสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้บ้าง

“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องของการกำหนดความผิดในเรื่องของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

สำหรับความแตกต่างมาตรา 112 กับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปนั้น หากพิจารณาแล้วในเรื่องของบุคคลทั่วไป เรื่องดูหมิ่นเป็นบทบัญญัติของกฎหมายบทบัญญัติหนึ่ง เรื่องหมิ่นประมาทก็เป็นบทบัญญัติกฎหมายอีกบทบัญญัติหนึ่ง เรื่องการแสดงความอาฆาตมาดร้ายในบุคคลทั่วไป ไม่ได้มี แต่จะเป็นเรื่องของการข่มขู่หรือการทำให้หวาดกลัว เพราะฉะนั้นในส่วนของคนธรรมดาก็จะแยกๆ กันอยู่ไม่ได้มารวมกันอยู่ในกฎหมายมาตราเดียว ส่วนโทษก็จะแตกต่างกัน ซึ่งโทษตามมาตรา 112 ก็จะเป็นโทษที่หนักกว่ากรณีดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป” ดร.เจษฎ์ กล่าว

กระนั้นในช่วงท้ายนักวิชาการทางกฎหมาย ยังระบุว่า มาตรา 112 กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ของประเทศอื่น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ก็พบว่า ประเทศหลายๆ ประเทศก็มีกฎหมายในลักษณะเดียวกัน ในเรื่องของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่หลายๆ ประเทศก็อาจจะไม่มี บางประเทศก็เป็นโทษอาญาในลักษณะของการมีโทษจำคุก บางประเทศก็เป็นโทษอาญาในลักษณะของการปรับ จึงมีทั้งเหมือนและต่าง

ส่วนขั้นตอนการกระบวนการดำเนินคดี มาตรา 112 จะเริ่มจากการที่มีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ก่อนเข้าสู่การดำเนินการตามกระบวนขั้นตอนกฎหมายตามปกติทางอาญา เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนหากเห็นควรสั่งฟ้องก็ส่งต่อไปที่พนักงานอัยการ จากนั้นพนักงานอัยการสั่งฟ้องไปที่ศาล คือดำเนินกระบวนพิจารณาเหมือนคดีอาญาทั่วไป

นั่นก็หมายความว่า “ใครก็ได้แจ้งความร้องทุกข์ได้ ใครพบเห็นการกระทำก็ไปแจ้งความได้”