สหรัฐดันทุรังคลั่งสงคราม!?เป่าหูยูเครนกุมพาฯรัสเซียบุก ร้องUNจัดประชุมรุมรัสเซีย

1224

ขณะนี้ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่วิกฤติขัดแย้ง “ยูเครน” ซึ่งมีความชัดเจนว่ามีสหรัฐและนาโตเป็นโต้โผใหญ่ การเคลื่อนไหวของปธน.วลาดิมีร์ ปูติน และกองทัพรัสเซียจึงเป็นที่จับตาของนานาชาติทั่วโลก ท่ามกลางความกังวลว่ายุโรปจะเข้าสู่สงครามโลกอีกครั้งหรือไม่ ล่าสุดฝรั่งเศสมีความพยายามจัดการเจรจาแบบนอร์มังดี ดูท่าทีว่าออกมาเป็นบวกยูเครนดูจะผ่อนคลายขึ้นเพราะในประเทศก็กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าทางเศรษฐกิจเข้าขั้นหนักไม่น้อย  แต่สหรัฐยังคงยืนยันท่าทีแข็งกร้าว ทั้งจดหมายตอบปฏิเสธเรื่องข้อเรียกร้องรัสเซีย และการต่อสายตรงระหว่างปธน.ไบเดนและปธน.เซเลนสกีแห่งยูเครน คุยแค่ 20 นาทีตอกย้ำว่าต้องรบ เพราะรัสเซียจะบุกในเดือนกุมภาพันธ์แน่นอน และเดินหน้าเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกประชุมด่วนเพื่อคว่ำบาตรรัสเซีย สหรัฐทุรนทุรายขนาดนี้ เป็นที่น่าผิดสังเกตุ

เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 28 ม.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ปธน.สหรัฐฯ โจ ไบเดน ใช้เวลาแค่ 20 นาที ต่อสายเตือนผู้นำยูเครนว่ารัสเซียจะบุกโจมตีเดือนกุมภาพันธ์ หลังพื้นเริ่มแข็งตัวจากหิมะ พร้อมขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเปิดประชุมฉุกเฉินด่วนหารือวิกฤติยูเครน ขณะที่การประชุมนอร์มังดีที่ปารีส ฝรั่งเศส ผู้แทนฝ่ายมอสโกว์-ยูเครนยอมตกลงเดินหน้าหารือหยุดยิงถาวรยูเครนตะวันออก 

สถานการณ์ที่ผู้นำยูเครนออกอาการสับสน ไม่แน่ใจว่ารัสเซียจะก่อสงครามจริงหรือไม่ เพราะฝ่ายความมั่นคงของยูเครนยืนยันว่าไม่มีสัญญาณรุกรานของรัสเซีย การซ้อมรบเป็นกำหนดการที่แจ้งล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ และปัญหาภายในยูเครนเริ่มรุมเร้ามากขึ้น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ขณะที่การเสริมอาวุธทางทหารก็ต้องกู้ยืมเงินจากอังกฤษไปซื้ออาวุธของอังกฤษ ความหวังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและนาโตแบบเต็มพิกัดดูจะลางเลือน ประหนึ่งผลักให้ยูเครนเผชิญศึกด้วยตนเองโดยมีสหรัฐและนาโตเป็นแค่กองหนุน

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นาโตแถลงว่าไม่ได้วางแผนที่จะส่งกองกำลังทหารไปประจำการในยูเครน ด้านเยอรมนีย้ำว่าจะไม่ส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารไปยังยูเครน โดยส่งหมวกนิรภัย 5,000 ใบกับอุปกรณ์ยาภาคสนามและอื่นๆให้กองทัพยูเครน

เมื่อวันอังคาร โซราน มิลาโนวิช ประธานาธิบดีโครเอเชีย ให้คำมั่นว่าจะถอนกำลังทหารโครเอเชียทั้งหมดออกจากภูมิภาคในกรณีที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยกล่าวว่าความขัดแย้งที่ยูเครนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยูเครนหรือรัสเซียเลย เกี่ยวข้องกับนโยบายและผลประโยชน์ตลอดจนปัญหาภายในประเทศของสหรัฐฯ 

ต่อมาเมื่อวันศุกร์ โรมาเนีย ซึ่งตามธรรมเนียมถือว่าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่เข้มแข็งที่สุดของยูเครนในยุโรปตะวันออก ได้ประกาศว่าบูคาเรสต์จะไม่เข้าไปพัวพันกับกองทัพในยูเครนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น

ด้านเพนตากอนยังได้ประกาศว่าทหารสหรัฐฯ จำนวน 8,500 นายเตรียมพร้อมสำหรับการทำศึกในยูเครน ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังตอบโต้ของ NATO 

เบน วอลเลซ หัวหน้าฝ่ายกลาโหมของอังกฤษให้คำมั่นว่าจะจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารเพิ่มเติมและความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมแก่เคียฟ แต่ก็ไม่ได้รับประกันความปลอดภัยใดๆ เลย วอลเลซชี้ให้เห็นว่ารัสเซียมี “กองกำลังติดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป” และตั้งข้อสังเกตว่ายูเครน “ไม่ได้เป็นสมาชิกของ NATO” เขากล่าวว่ามาตรการของลอนดอนเป็นไปเพื่อ การช่วยให้ยูเครนช่วยตัวเอง  โดยรัฐสภาอังกฤษอนุมัติให้ยูเครนกู้เงิน 1,700 ล้านปอนด์หรือกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมาซื้ออาวุธของอังกฤษ

การเจรจาในรูปแบบนอร์มังดีที่ปารีส ใช้เวลานานหลายชั่วโมงระหว่างผู้แทนรัสเซียและยูเครนที่กรุงปารีสเมื่อวันพุธที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงพร้อมที่จะกลับมาเจรจาข้อตกลงหยุดยิงในภูมิภาคยูเครนตะวันออกที่กำลังอยู่ในความขัดแย้งมาตั้งแต่ปี 2014

เป็นการหารือแบบ 4 ฝ่ายที่เรียกว่า “นอร์มังดี ฟอร์แมต” (Normandy Format) ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสของปธน. เอ็มมานุแอล มาครง โดยมีตัวแทนเข้าร่วมนอกเหนือจากคู่ขัดแย้งรัสเซียและยูเครนแล้ว ยังรวมไปถึงฝรั่งเศสและเยอรมนีร่วมการประชุมครั้งนี้เพื่อพยายามจะหาทางออกสันติภาพ ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2014 ในยูเครนตะวันออก

ผู้นำฝ่ายเจรจาของรัสเซียคือ ดมิตรี โคซัค (Dmitry Kozak) กล่าวว่า ข้อตกลงหยุดยิงนั้นจำเป็นต้องบังคับใช้โดย “ไม่มีเงื่อนไข” แต่ยังคงมีอีกหลายประเด็นในยูเครนตะวันออกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หน้าที่ในการบังคับใช้ข้อตกลงเช่นนี้เป็นของกองกำลังยูเครนและกองกำลังสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์

ด้านผู้แทนการเจรจาฝ่ายยูเครนคือ แอนดริว เยอร์มัค (Andriy Yermak) กล่าวว่า ทุกฝ่ายนั้นสนับสนุนข้อตกลงหยุดยิงถาวรนี้ และทางเคียฟพร้อมที่จะเจรจาตลอดเวลาเพื่อป้องกันการเกิดสงครามและต้องการลดระดับความรุนแรงที่พรมแดนลง

ทั้งสองฝ่ายจะกลับมาหารือร่วมกันต่ออีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี