G7 กดดันตาลิบัน?!?ทำการเมืองและความมั่นคงเปราะบาง แต่การค้าอัฟกาฯและปากีสถานเพิ่ม 50% แกนนำยันกองกำลังต่างชาติต้องออกไป

1396

กร่างแต่หัววันเลย สำหรับหลังการประชุม G7 เหล่าประเทศมหาเศรษฐีตะวันตก ออกแถลงการณ์ให้ตาลิบันเคารพสิทธิมนุษยชนและปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนั้นยังกดดันสหรัฐฯให้ไปเจรจาขอขยับวันเส้นตาย อพยพกองกำลังต่างชาติ 31 สิงหาคม 2564 อ้างจะอพยพคนในสายตัวเองไม่ทัน สหรัฐฯต้องส่งผอ.ซีไอเอไปเจรจากับผู้นำระดับสูงของตาลิบันที่คาบูล สุดท้ายไร้ผล ตาลิบันยืนยันว่าเส้นตาย กองทหารต่างชาติต้องไม่อยู่ในแผ่นดินอาฟกานิสถาน ผิดจากนี้ถือว่าละเมิดข้อตกลง

ท่าทีของสหรัฐฯและตะวันตกไม่เคยเปลี่ยนแปลง เห็นเฉพาะประเทศและประชาชนของตนเท่านั้นที่สำคัญ  สะท้อนความโกลาหลนี้เกิดเพราะความไร้ประสิทธิภาพในการวางแผนอพยพของสหรัฐฯ หรือที่จริงแล้วสหรัฐฯไม่เคยคิดจะอพยพสมุนบริวารมากไปกว่า เคลื่อนทหารและหน่วยงานหลักในอาฟกาฯเท่านั้น

ในวันอังคารที่ 24 ส.ค.2564 บรรดาผู้นำของประเทศกลุ่ม G7 ได้ออกแถลงการณ์ร่วม หลังการประชุมออนไลน์โดยระบุว่า จะมีการจับตามองกลุ่มตาลิบันในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี รวมถึงความพยายามในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายไม่ให้กลับมาปฏิบัติการในพื้นที่ประเทศอัฟกานิสถาน

“รัฐบาลอัฟกานิสถานใดๆ ที่จะมีการจัดตั้งในอนาคต จะต้องสานต่อพันธกิจของอัฟกานิสถานต่อประชาคมโลก เราจะตัดสินผู้นำของอัฟกานิสถานจากการกระทำ มิใช่คำพูด” แถลงการณ์ระบุ

ฟังดูแล้วประหนึ่งว่าประเทศอาฟกานิสถานเป็นเมืองขึ้นของอณานิคม G7 และประเด็นที่ห่วงไม่ใช่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอาฟกานิสถาน ที่อาจต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร ขาดเงินสดชำระค่าสินค้า เพราะสหรัฐและตะวันตกยึดเงินของอาฟกาฯ อ้างจะไม่ให้ตอลิบันได้เข้าถึง

ห่วงแต่คาถาสิทธิมนุษยชน-สิทธิสตรีที่เป็นวัฒนธรรมแบบตะวันตก ที่สหรัฐฯนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนอัฟกันซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกับศาสนาอิสลามอย่างยิ่ง ความล้มเหลว 20 ปีที่สหรัฐเหยียบย่ำอาฟกานิสถาน แล้วถอยร่นออกมาอย่างน่าอับอาย เป็นคำตอบที่ชัดยิ่งกว่าชัดว่า ไม่มีใครยัดเยียดให้ประเทศอื่นเชื่อและเป็นแบบตัวเองได้ทั้งโลก ระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมและสิทธิมนุษยชนเลือกข้าง ไม่ใช่สูตรสำเร็จแห่งชีวิตที่ดีงาม

ทั้งนี้ กลุ่ม G7 ประกอบด้วย 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกได้แก่สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่น รวมถึงสหภาพยุโรป

ช่วงเวลาเดียวกันผอ.CIA สหรัฐฯ เดินทางไปพบผู้นำกลุ่มตาลีบันอย่างลับๆ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยอมรับว่าอาจอพยพคนที่ต้องออกจากอัฟกานิสถานได้ไม่หมด

เรื่องนี้สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็นและวอชิงตัน โพสต์ รายงานว่า นาย วิลเลียม เจ. เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) เดินทางไปพบปะกับผู้นำระดับสูงของกลุ่มตาลีบันอย่างลับๆ ที่กรุงคาบูล เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงดำเนินการอพยพชาวอเมริกันและผู้ช่วยชาวอัฟกันออกจากอัฟกานิสถาน ก่อนจะถึงเส้นตายการถอนทหารในช่วงสิ้นเดือนนี้

การพบปะกันอย่างลับๆ ระหว่าง นายเบิร์นส์ กับ นาย มุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ รองหัวหน้ากลุ่มตาลีบัน นั้นเปิดเผยเป็นครั้งแรกถือเป็นการพบปะกันในระดับสูงสุด นับตั้งแต่ตาลีบันยึดกรุงคาบูล

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายระเอียดการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่ายอกมา แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯกล่าวว่า การพบกันครั้งนี้ตอกย้ำแนวคิดของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า พวกเขาต้องการทำความเข้าใจจุดยืนของกลุ่มตาลีบันมากขึ้นในหลายๆ ประเด็น ก่อนจะถึงเส้นตายที่สหรัฐฯ จะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน ในวันที่ 31 ส.ค.

ในขณะที่ความชุลมุนวุ่นวายจากการอพยพคนของต่างชาติดำเนินอยู่ แต่การค้าระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถานกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มตาลิบันขณะนี้มีอำนาจควบคุมพรมแดนและท่าเรือของอัฟกานิสถาน อย่างเบ็ดเสร็จ รายงานของสื่อท้องถิ่นกล่าวว่าหอการค้าและอุตสาหกรรมของอัฟกานิสถานรายงานว่าแม้จะมีปัญหาระหว่างการขนส่ง แต่การค้าก็เพิ่มขึ้น 

ซาบิอุเลาะห์ มูจาฮิต( Zabiullah Mujahid)โฆษกของกลุ่มตอลิบัน  เปิดเผยว่าในที่ประชุมเมื่อวันจันทร์กล่าวว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อดำเนินการตามแผนการที่พวกเขาได้เตรียมไว้ ในขณะที่ สมาชิกของหอการค้าและการลงทุนของอัฟกานิสถานได้เข้าประชุมและได้แบ่งปันปัญหาของภาคเอกชน ทั้งนี้กลุ่มตอลิบานให้ความมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้