2 กรกฎาคม 2563 เกิดเหตุดินโคลนถล่มที่ เหมืองหยก ในเมืองปะกันหรือพากัน รัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือ ภายหลังพายุฝนฤดูมรสุมตกกระหน่ำต่อเนื่อง จากโศกนาฎกรรมดังกล่าว บรรดาญาตินำร่างคนงานเหมืองหยกหลายสิบคนที่เสียชีวิตจากเหตุดินถล่มในพื้นที่ตอนเหนือของพม่าถูกนำไปฝังรวมกันในหลุมยักษ์วันเสาร์ (4 ก.ค.) ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หลังจัดการฝังศพไปแล้ว 77 ศพ เมื่อวันศุกร์ (3 ก.ค.) ในอุบัติเหตุในเหมืองครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพม่า รวมผู้เสียชีวิตขณะนี้ประมาณ 170 คน
ทั้งนี้คนงานมากกว่า 170 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาแสวงหาโชคลาภในพื้นที่ของเมืองผากันที่อุดมไปด้วยหยกในรัฐกะฉิ่น ได้เสียชีวิตลงในวันพฤหัสฯ (2 ก.ค) หลังกองดินสูงจากการขุดเหมืองถล่มร่วงลงสู่ทะเลสาปเบื้องล่างจนทำให้เกิดคลื่นน้ำซัดท่วมคนงานที่กำลังขุดหาหยกและฝังพวกเขาอยู่ใต้โคลน
ธา ลิน หม่อง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจากกระทรวงข้อมูลข่าวสารกล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่าเจ้าหน้าที่สามารถกู้ศพขึ้นมาได้แล้ว 171 ศพ และยังมีศพอีกจำนวนมากลอยอยู่ในน้ำ ศพที่ฝังไปเมื่อวันศุกร์ (3 ก.ค.) ทั้งหมด 77 ศพ เป็นศพที่ระบุยืนยันตัวบุคคลได้แล้ว และวันเสาร์ (4 ก.ค.) ฝังเพิ่มอีก 39 ศพ โดยอาสาสมัครได้นำโลงศพวางเรียงกันในหลุมยักษ์ที่ขุดขึ้นในพื้นที่ใกล้กับบริเวณเหมือง
พม่า ถือเป็นแหล่งผลิตหยกรายใหญ่ที่สุดของโลก มูลค่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหยกส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจีนที่มีพรมแดนติดกับรัฐกะฉิ่น อุบัติเหตุร้ายแรงและดินถล่มเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในเหมืองเหล่านี้
ในเหตุการณ์ดินถล่มที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 100 คน และอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 50 คน แต่ดินถล่มที่เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสฯ นับว่าเลวร้ายที่สุดในความทรงจำ ทั้งนี้รัฐบาลได้ประกาศตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า แม้รัฐบาลของซูจีจะให้คำมั่นว่าจะจัดการสะสางอุตสาหกรรมนี้เมื่อครั้งที่เข้ามาบริหารประเทศในปี 2559 แต่กลับมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยกับอุตสาหกรรมเหมืองหยก
…………………………………
Cr:cnnnews, rauters