รศ.สุวินัยฯอ่านขาด!?บทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจตรุกี ผู้นำเติร์กทำพลาด ใช้นโยบายการเงินนอกรีต

1062

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัววิเคราะห์ต้นตอวิกฤตเศรษฐกิจตุรกีอย่างทะลุปรุโปร่ง เก็บรับบทเรียนที่ผู้นำประเทศและทีมบริหารเศรษฐกิจทำพลาดในเรื่องนโยบายการเงิน ฉุดเศรษฐกิจชาติดิ่งเหวมีรายละเอียดน่าสนใจมากดังนี้

“การวิเคราะห์ปัญหาเงินเฟ้อในตรุกี กับ ปัญหาของทฤษฎีสมคบคิด”

ประการแรก: ทฤษฎีสมคบคิดที่โยง Global Politics มาอธิบายปัญหา Local Economy ของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น มันสะดวกและง่ายต่อการเชื่อมโยงให้ชาวบ้านเข้าใจก็จริงแต่มันก็มีจุดอ่อนอยู่มากเช่นกัน จนแทบเรียกว่า “ไม่น่าจะถูกต้อง”

ความไม่ถูกต้องประการที่หนึ่ง : เป็นความไม่ถูกต้องในเชิงตรรกะ

โอเค … สมมติเรายอมรับสมมติฐานของทฤษฎีสมคบคิดว่า มี Global Politics เข้ามายุ่มย่ามแทรกแซง Local Economy จริง  เราก็ต้องถามต่อว่าเมื่อ “พวกเขา” พิมพ์เงินดอลลาร์ได้ไม่จำกัด พวกเขาก็ต้องเอาเงินดอลลาร์จำนวนมหาศาลนั้น ไปอัดใส่ให้กับธนาคารกลางทั่วโลก และปล่อยการกู้ยืมผ่านธนาคารใหญ่ๆ

และต่อมาในอนาคตอันใกล้ ถ้าเกิดโคตรวิกฤตการเงินโลกจนเกิดการทรุดตัวของระบบพร้อมกันในระดับ “หลอมละลาย” (meltdown) ขึ้นมาจริงๆ”พวกเขา”จะต้องมีบทบาทสำคัญที่สุดในการเข้าไปประคองระบบมิให้ล่มสลาย ใช่หรือไม่ ?

ถ้าใช่ มันก็มีคำถามตามมาอีกว่า พวกเขาจะเอาเงินไปใส่ในมือใคร และใส่อย่างไร ถึงจะป้องกันให้ระบบไม่ล่มสลายได้

แต่ทฤษฎีสมคบคิดไม่เคยและไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และปฏิบัติได้จริง  …  ได้เลยในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทฤษฎีสมคบคิดมักไม่ค่อยมีราคาในสายตาของผู้ที่ต้องรับผิดชอบบริหารประเทศ

เนื่องจากพรรคไทยภักดีเองก็มุ่งมั่นที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้ จึงทำให้พรรคไทยภักดีต้องยึดหลักวิชาการอย่างเคร่งครัดในการบริหารเศรษฐกิจ

 

ความไม่ถูกต้องประการที่สอง : เป็นความไม่ถูกต้องในเชิงหลักการ

เพราะการออม ไม่ว่าจะนำมา finance การขาดดุลการค้า หรือให้ยืมเพื่อการลงทุน มันเป็นเรื่องของภาคเอกชน ไม่ใช่ของ US government เพราะฉะนั้น ทฤษฎีการเงินที่อาศัยกลไกตลาดจึงน่าจะอธิบายปัญหาเงินเฟ้อได้ดีกว่าทฤษฎีสมคบคิด จริงหรือไม่ ?

ในที่นี้เราจะขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงิน และการเมือง จากบทเรียนจากตุรกี  โดยใช้ทฤษฎีการเงินมาอธิบายแทนทฤษฎีสมคบคิด

ตุรกีประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในช่วง 2018-ปัจจุบัน จากการขาดดุลการค้า และปัญหาการผิดนัดชำระหนี้กับต่างชาติ ทั้งๆที่เคยมีทุนสำรองฯอยู่จำนวนมากมาก่อน แต่ที่สำคัญกว่านั้นและน่าจะเป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือการดำเนินนโยบายการเงินแบบนอกรีต (unorthodox) ของนักการเมืองที่กุมอำนาจบริหารประเทศ

การไหลออกอย่างรวดเร็วของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่น (lira) เสื่อมค่าอย่างรวดเร็วและเกิดเงินเฟ้อภายในประเทศในระดับสูง จนทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักในปัจจุบันมันเป็นผลจากการเข้ามาแทรกแซงโจมตีค่าเงินของสหรัฐฯเหมือนอย่างที่ทฤษฎีสมคบคิดกล่าวอ้างหรือไม่

นโยบายการเงินในปัจจุบันนั้นผูกติดอยู่กับเป้าหมายเงินเฟ้อ …หมายความว่าการเพิ่ม/ลดปริมาณเงินนั้นกระทำเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่วางเอาไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั่นเอง

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นผลที่เกิดจากเหตุ คือปริมาณเงินแต่มิได้เป็นเป้าหมายที่นำมาคำนึงถึงเหตุที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้ด้วยแนวคิด Fisher Effect ของ Irving Fisher ที่กล่าวว่า”เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ธนาคารกลางจึงต้องปรับลดปริมาณเงิน ซึ่งจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยในนาม(nominal interest rates) เพิ่มสูงขึ้นเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเฟ้อที่เกิดจาก “อุปสงค์รวมมีมากเกินไป”สั้นๆ คือจะเกิดปรากฏการณ์ลดอุปสงค์รวม ทั้งจากการกู้ยืมและการใช้จ่ายนั่นเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยในนาม (i) กับเงินเฟ้อ (π) จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันดังแสดงโดยi=r+π  เงินเฟ้อจึงเป็นเหตุและมีผลทำให้ต้องมีการการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในนามในทิศทางเดียวกัน เมื่อกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (r) มีค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

นี่คือพื้นฐานแนวคิดของเศรษฐกิจมหภาคในด้านนโยบายการเงินที่ถูกใช้มาโดยตลอด

การเมืองในตุรกีก็อาศัยความสัมพันธ์นี้เช่นกัน แต่ทำแบบนอกรีต กล่าวคือประธานาธิบดีของเขาเชื่อว่าหากลดอัตราดอกเบี้ยในนาม เงินเฟ้อก็จะลดตามไปด้วย โดยมิได้มองว่าอะไรคือเหตุและผล (causality)และข้อสมมุติที่มีอยู่ของประธานาธิบดีตรุกีก็เป็นการคิดเอาเองแต่เพียงด้านเดียวว่า

“หากลดอัตราดอกเบี้ย(แทนที่จะขึ้นเมื่อเกิดเงินเฟ้อ)แล้วเงินเฟ้อก็จะลดลงตามไปด้วย”

นี่คือวิธีคิดแบบนักการเมืองล้วนๆที่มุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองเป็นที่ตั้ง โดยไม่สนความถูกต้องทางวิชาการใดๆทั้งสิ้น เพราะนักการเมืองไม่ว่าชาติใดก็ล้วนไม่ชอบการขึ้นราคาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในรูปของ ดอกเบี้ย ภาษี หรือ ราคาสินค้า เพราะนักการเมืองทุกคนล้วนคิดหวังแต่คะแนนนิยมเป็นหลัก และมักคิดเสมอว่าอำนาจทางการเมืองมีอำนาจเหนือกว่ากลไกราคา!

การลดอัตราดอกเบี้ยในนามของประธานาธิบดีตรุกีโดยคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะลดตามลงไปด้วย จึงไม่เป็นผล เพราะทำกลับหัวกลับหางเอาผลมาหาเหตุ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในกรณีของตุรกี เมื่อได้ลดอัตราดอกเบี้ยในนามขณะที่ยังมีเงินเฟ้อในระดับสูงอยู่ก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ (r≺0) !

ดังนั้นผลจึงเกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับผู้ออมทั้งในและนอกประเทศก็คือ การขาดแรงจูงใจที่จะยอมออม เพราะประโยชน์ที่แท้จริงที่จะได้จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมันไม่มี(ติดลบ)  สู้เอาไปบริโภคซื้อสินค้ายังดีกว่า

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลตุรกีถึงขั้นยอมจ่าย “ส่วนต่าง” ให้กับผู้ฝากเงิน lira ซึ่งเป็นตัวแทนของเงินเฟ้อ หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเงิน lira ต่ำกว่าการเสื่อมค่าของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงิน lira เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ … เพื่อจูงใจให้ผู้ฝากออมเงิน

แต่สำหรับผู้ออมต่างชาติ ตุรกีซึ่งอาศัยเงินออมจากต่างชาติเพื่อมาชดเชยการขาดดุลการค้าและเป็นแหล่งเงินทุน ใช่ว่าจะยอมใจอ่อนยอมลงทุนได้ง่ายๆ

เพราะไม่มีใครยินดีให้ยืมเงินโดยง่ายไม่ว่าจะเพื่อการค้าหรือการลงทุนในภาวะเช่นนี้หรอก หากไม่มีการชดเชยความเสี่ยงที่มากพอ

ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนบทวิเคราะห์ของเราก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตุรกี (lira) กับดอลลาร์สหรัฐฯที่เสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็วจากระดับต่ำกว่า 2 (ก่อนปี ค.ศ.2013) มาเป็น 12.5 lira/USD ในปัจจุบัน !

ประเทศที่เล็ก ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและต้องพึ่งพาเงินออมจากต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างตรงไปตรงมา ตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด มิใช่ตามลมปากและความอหังการของนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจ

นักการเมืองที่ประชาชนเชื่อถือได้จริงๆ จึงต้องกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะให้ข้าราชการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษาไว้ซึ่งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ อันแสดงถึงความเป็นอิสระจากการเมืองในการดำเนินนโยบายและเพื่อสร้างเครดิตในด้านนโยบาย มิใช่เอาการเมืองมาเหนือประโยชน์ของประเทศเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ อำนาจจากบัตรเลือกตั้งจึงไม่ได้ยิ่งใหญ่เสมอไป !

บางทีเศรษฐศาสตร์มหภาคด้านการเงินอาจอยู่ไกลตัว และไม่มีผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้าน

บางทีเศรษฐศาสตร์มหภาคด้านการเงินมันอาจจะยากเกินกว่าที่นักการเมืองหรือนักสื่อสารมวลชนจะเข้าใจก็เป็นได้

สาเหตุสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจของตุรกีในขณะนี้ จึงมิไม่น่าใช่ Global Politics ที่มีถึง Local Economy อย่างที่ทฤษฎีสมคบคิดอธิบายไว้อย่างเป็นตุเป็นตะแต่อย่างใด ต้นเหตุจริงๆของวิกฤตเศรษฐกิจของตรุกีในขณะนี้มาจากนักการเมืองผู้กุมอำนาจที่ดำเนินโยบายแบบนอกรีตต่างหาก