ถล่มครั้งที่ 2 รอบสัปดาห์!?!นายกฯใหม่อิสราเอล บัญชาทิ้งระเบิดฉนวนกาซาทั้งคืน ล้วงลึกตัวตนผู้นำใหม่สายขวาสุดโต่ง

1500

นัฟทาลี เบนเนตต์ นักการเมืองจากพรรคยามินา วัย 49 ปีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมตรีอิสราเอลคนใหม่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา

เป็นหัวหน้าพรรคขนาดเล็กที่มีส.ส.ได้รับเลือกเข้าสู่สภาเพียง 7 ที่นั่งจากจำนวนเก้าอี้ทั้งหมด 120 ที่นั่ง ตัดสินใจหันหลังให้กับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคลิคุด ไปรวมเสียงกับพรรคเล็กอีก 7 พรรค ตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ เขาบอกเสมอว่าตัวเองเป็นนักการเมืองสาย “อัลตร้าแนชั่นแนลลิสต์” หรือ แนวคิดแบบชาตินิยมขวาจัดสุดโต่ง คัดค้านการแยกตัวเป็นอิสระของชาวปาเลสไตน์ สนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเวสต์แบงก์ และเยรูซาเล็มตะวันออก แนวคิดซึ่งประชาคมโลกมองว่าเป็นอุปสรรค์ต่อสันติภาพในภูมิภาค และวันนี้เป็นผู้กุมบังเหียนอิสราเอล นั้นหมายถึงว่าจุดมุ่งหมายของอิสราเอลยังคงยืนหยัดแนวทางไซออนิสต์เหมือนเนทันยาฮู เพียงแต่อาจเข้มข้นกว่า เด็ดขาดกว่าเพื่อเป้าหมายยืดดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมดให้ได้โดยเร็วที่สุดนั่นเอง

นัฟทาลี เบนเนตต์ เป็นอดีตทหารหน่วยจู่โจมของอิสราเอล ซึ่งต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลเนทันยาฮู ตั้งแต่ปี 2013 รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Minister of Defemce) ระหว่างปี 2019-2020 มีภรรยาเป็นชาวอเมริกัน ครอบครัวย้ายไปมาระหว่างอเมริกาเหนือและอิสราเอล เคยเป็นทหารหน่วยคอมมานโด จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮิบรูว์ ในปี 1999 และเคยร่วมก่อตั้งบริษัท Cyota บริษัทผู้ผลิตซอฟท์แวร์ต่อต้านการทุจริต ก่อนจะขายกิจการให้กับ RSA Security บริษัทในสหรัฐ ไปมูลค่า 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เขาเป็นผู้นำอิสราเอล รุ่นที่ 3 ต่อจากผู้ก่อตั้งอิสราเอล และ ยุคของเนทันยาฮู ซึ่งบริหารประเทศท่ามกลางสงครามกับชาติอาหรับอย่างต่อเนื่อง แต่สื่อท้องถิ่นปีกซ้ายของอิสราเอล เขียนประวัติย่อของเบนเนตต์สะท้อนตัวตนนักการเมืองผู้นี้ไว้ว่า “เขาคืออิสราเอล 3.0”

หลายคนอาจมองว่าเบนเนตต์เป็นผู้อยู่ในการอุปถัมภ์ใกล้ชิดของเนทันยาฮู แต่ก็แยกตัวออกไปในช่วงปี 2020 หลังจากสามารถขึ้นเป็นผู้นำแนวร่วมพรรคยามินา ซึ่งประกอบด้วยหลายกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ขวาจัด และผลการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น ส่งผลให้เนทันยาฮูจับมือกับ เบนนี่ กานซ์ ผู้นำฝ่ายค้านแห่งพรรคบลูแอนด์ไวท์ ซึ่งมีอุดมการณ์เอียงซ้าย ซึ่งมิอาจไปด้วยกันได้กับอุดมการณ์ของพรรคยามินา

ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งรอบล่าสุด เบนเนตต์ให้นิยามตนเองต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า เขา (และพรรคของเขานั้น) เป็นตัวแทนอุดมการณ์ที่ “ขวามากยิ่งกว่า” (more right-wing) เนทันยาฮู อุดมการณ์ที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นอยู่ในท่าทีทางการเมืองของเบนเนตต์ต่อเรื่องต่างๆ เช่น การยืนยันสิทธิของชาวยิวในการตั้งถิ่นฐานในเวสต์แบงค์ พร้อมอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์และศาสนาของชนชาติยิวในการจัดตั้งรัฐยิว (Jewish State) เหนือพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองได้จากสงครามปี 1967 นั่นคือ เวสต์แบงก์ เยรูซาเล็มตะวันออก และที่ราบสูงโกลาน

ไม่ต้องแปลกใจเลยที่รัฐบาลของเขาจะเปิดฉากถล่มกาซาอีกระลอก

อีกด้านหนึ่ง เบนเนตต์ก็เป็นผู้มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจน่าสนใจ เขาเป็นมหาเศรษฐีที่เติบโตจากการประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ด้วยฐานที่เป็นครอบครัวชาวยิว-อเมริกัน อพยพมาจากซานฟรานซิสโกในช่วงทศวรรษที่ 1960 ทำให้ธุรกิจของเขาสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ทั้งการขายกิจการบริษัทคีโยตา (Cyota) ซึ่งเชี่ยวชาญระบบซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยและการป้องกันการฉ้อโกงออนไลน์สำหรับสถาบันการเงินให้กับกลุ่ม RSA Security สัญชาติอเมริกัน

นอกจากนี้ยังเป็นซีอีโอดำเนินกิจการโซลูโต (Soluto) บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ปกป้องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บนระบบไมโครซอฟท์วินโดวส์ และการจัดการอุปกรณ์ผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งต่อมากิจการได้ถูกขายไปให้บริษัทอะซูเรียน (Asurion) ที่เทนเนสซี และการลงทุนในบริษัทเพย์โอเนียร์ (Payoneer) ซึ่งประกอบธุรกิจด้าน Fintech จากการระดมทุนกันทั่วโลก และมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก

ดังนั้น ไม่แปลกที่เบนเนตต์จะมีแนวคิดทางเศรษฐกิจค่อนไปทางทุนนิยมเสรี ซึ่งเชื่อมั่นว่าการลดการควบคุมของรัฐต่อเอกชนเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการออกแบบมาตรการแก้ปัญหาราคาอาหารแพง การลดภาษีและอุปสรรคทางการค้า ที่มิใช่ภาษีเพื่อเพิ่มระดับการนำเข้าสินค้าถูกคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มการแข่งขันในภาคส่วนอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารถูกลง สำหรับการค้าระหว่างประเทศ เบนเนตต์ส่งเสริมให้อิสราเอลลดการพึ่งพาการค้ากับสหภาพยุโรป แล้วเพิ่มระดับการค้ากับบรรดาตลาดเกิดใหม่ให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่สหภาพยุโรปอาจคว่ำบาตรอิสราเอลต่อประเด็นปาเลสไตน์นั่นเอง

แม้เราจะพอเห็นเค้าลางการเมืองอิสราเอลระยะต่อไปโดยสะท้อนจากแนวคิดและจุดยืนของเบนเนตต์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งแค่ราว 2 ปี หลังจากนั้น เก้าอี้นายกรัฐมนตรีจะถูกสลับมาให้กับ ยาอีร์ ลาปิด ได้นำรัฐบาลต่อ

ยาอีร์ ลาปิด มีภูมิหลังที่แตกต่างกับเบนเนตต์พอสมควร เขาเติบโตมาจากสายสื่อมวลชน เคยเป็นทั้งนักแสดง ผู้ประกาศข่าว พิธีกรรายการทอล์กโชว์ และคอลัมนิสต์ แม้ว่าพรรคเยช อทิดของลาปิดจะเป็นตัวแทนแนวคิดสายกลางทางการเมือง แต่สำหรับประเด็นปาเลสไตน์ ลาปิดดูมีท่าทีไม่ต่างจากเบนเนตต์มากเท่าที่ควร เมื่อดูจากจุดยืนในเรื่องอื่นๆ ของทั้งตัวเขาเองและพรรคที่สังกัด

กล่าวคือ แม้ว่าลาปิดจะชูแนวทางสองรัฐ แต่ในรายละเอียด เขายืนยันสิทธิของชนชาติยิวในการดำรงนิคมชาวยิวและที่อยู่อาศัยอื่นๆ ส่วนใหญ่ซึ่งได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานแล้วในเวสต์แบงค์ โดยนับรวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสราเอล ที่จะต้องบรรจุไว้ในข้อตกลงสันติภาพระหว่างกันในกระบวนการเจรจาบนหลักของแนวทางสองรัฐ