ฝ่ายต้านแพ้ราบคาบ!?กองกำลังCSTO เตรียมถอนจากคาซัคฯ หลังเสร็จสิ้นภารกิจปราบจลาจล

1093

ปฏิบัติการสายฟ้าแล๊บของกองกำลังพันธมิตรCSTO ที่นำโดยรัสเซีย มาทันทีภายใน 24 ชั่วโมง ช่วยปราบจลาจลและการก่อการร้ายสำเร็จโดยพื้นฐานภายในชั่วระยะเวลาอันสั้น และเตรียมถอนกำลังกลับหลังเสร็จสิ้นภารกิจ

 

วันอังคารที่ 11 ม.ค.2565 ประธานาธิบดีคาซัคสถานแถลงผล การจัดการปัญหาจลาจลและการเคลื่อนไหวก่อการร้ายในเมืองใหญ่ว่าเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้หมด และแจ้งว่ากองกำลังพันธมิตรด้านความมั่นคงที่นำโดยรัสเซียจะเริ่มถอนทหารออกจากประเทศของเขาในอีก 2 วันข้างหน้า โดยใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 10 วัน หลังประสบความสำเร็จเสร็จสิ้นภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อย 

ทหารจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมCSTO ชื่อเต็มว่า Collective Security Treaty Organisation ซึ่งคือกองกำลังพันธมิตรทหารของอดีตสหภาพโซเวียต 6 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกำลังพลของรัสเซีย ถูกส่งเข้าประจำการในคาซัคสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามคำร้องขอของประธานาธิบดีคัสซิม-โจมาร์ต โทคาเยฟ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อราวๆ 30 ปีก่อน

การประท้วงต่อต้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในชาติที่มีประชากร 19 ล้านคน และอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม จากนั้นได้ลุกลามสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลปธน.โทคาเยฟในวงกว้าง และไม่กี่วันถัดมา การชุมนุมก็ลุกลามเข้าสู่ความรุนแรง มีพลเมืองและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหลายสิบคนเสียชีวิตจากกองกำลังติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในการชุมนุมประท้วง

อัลมาตี อดีตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของคาซัคสถานเป็นจุดเริ่มต้นและศูนย์กลางการเคลื่อนไหว  พวกผู้ประท้วงจุดไฟเผาอาคารราชการต่างๆ และบุกยึดสนามบินช่วงสั้นๆ สถานการณ์ความไม่สงบที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีคัสซิม-โจมาร์ต โทคาเยฟ กล่าวว่าสถานการณ์ความไม่สงบเกิดจากพวกก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ และยืนยันว่า คำร้องขอความช่วยเหลือจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมนั้นมีความชอบธรรมทางกฎหมาย

โทคาเยฟ รายงานกับรัฐสภาคาซัคสถานในวันเดียวกันว่า “ตอนที่เราตัดสินใจในเรื่องนี้ เรามั่นใจว่าถ้าไม่รีบดำเนินการ อาจสูญเสียการควบคุมเมืองอัลมาตีโดยสมบูรณ์ เพราะเมืองกำลังถูกฉีกเป็นชิ้นๆโดยพวกก่อการร้ายติดอาวุธ ถ้าเราเสียอัลมาตี เราจะสูญเสียเมืองหลวงและเมืองสำคัญทั่วทั้งประเทศ” 

ประธานาธิบดีบอกว่า องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมเสร็จสิ้นภารกิจแล้วเป็นส่วนใหญ่ และจะเริ่มถอนทหารออกไปในอีก 2 วันข้างหน้า กระบวนการที่คาดหมายว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน

เมื่อถูกถามว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเร็วเกินไปหรือไม่ เนื่องจากทหารเหล่านี้เพิ่งเข้ามาในคาซัคสถานเมื่อ 5 วันก่อน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุว่า มันเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดและโดยสิ้นเชิงของทางคาซัคสถาน “มันเป็นการวิเคราะห์ของพวกเขา และเราไม่มีสิทธิแทรกแซง”

โทคาเยฟ ยังได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐบาลชุดใหม่ในวันอังคาร (11 ม.ค.) โดยรองนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีบางส่วนของรัฐบาลชุดก่อนยังคงได้รับความไว้วางใจให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป

รัฐบาลคาซัคสถานลาออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หนึ่งในความเคลื่อนไหวอ่อนข้อที่มีเป้าหมายระงับความโกรธของพวกผู้ประท้วง เช่นเดียวกับการตรึงราคาเชื้อเพลิงเป็นเวลา 180 วัน และปลด นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนก่อนวัย 81 ปี ซึ่งปกครองคาซัคสถานมานานกว่า 3 ทศวรรษ พ้นจากตำแหน่งอันทรงอิทธิพลของเขาในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งก็ไม่เกิดผลอย่างไร เพราะการก่อความไม่สงบยังคงลุกลามสาหัส ทำให้รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือไปยังพันธมิตรความมั่นคง

อาลิคาน สไมลอฟ(Alikhan Smilov) วัย 49 ปี นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้ง เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังและรองนายกรัฐมนตรีหมายเลข 1 ของคาซัคสถาน

วิถีชีวิตในอัลมาตี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประท้วงรุนแรง เริ่มกลับคืนสู่ความสงบแล้วในสัปดาห์นี้ ด้วยระบบขนส่งสาธารณะกลับมาให้บริการและห้างสรรพสินค้าต่างๆ กลับมาเปิดทำการ ขณะที่เจ้าของร้านค้าบางส่วนที่ถูกปล้นสะดมในสถานการณ์ความไม่สงบก็กำลังเข้าประเมินความเสียหายเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่อไป

กระทรวงมหาดไทยของคาซัคสถาน รายงานว่า มีผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวมากกว่า 9,900 คน สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีเผยเช่นกันว่า ได้เปิดการสืบสวนทางอาญา 338 คดี เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ และเหตุทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ 18 ราย