พรรคใหม่อดีตเด็กก้าวไกล “รวมไทยยูไนเต็ด” ออกตัวแรง เสนอปฏิรูปกฎหมาย ป้องกันคนรวยหนีคดี!

1689

นโยบายสะเทือนคนแดนไกล!? พรรคใหม่อดีตเด็กก้าวไกล “รวมไทยยูไนเต็ด” ออกตัวแรง เสนอปฏิรูปกฎหมาย ป้องกันคนรวยหนีคดี!?

กำลังเป็นที่น่าสนใจสำหรับพรรคน้องใหม่ ที่ยังไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมากมาย แต่มีกระแสเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อทางด้านของ นายวินท์ สุธีรชัย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายพรรคในการแก้ไขกฎหมาย ม.112 จนทำให้มีปัญหาภายในแล้วออกมาร่วมก่อตั้ง “พรรครวมไทยยูไนเต็ด”

ล่าสุดทางด้านของ นายวรนัยน์ วาณิชกะ หัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวโดยมีรายละเอียดว่า “คนจนขโมยพันบาท ติดคุกหัวโต คนรวยปล้นพันล้าน ใช้ชีวิตไฮโซ”

อดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร เอ่ยปากจะกลับบ้านทีไรก็สะเทือนทั้งแผ่นดิน อย่างเช่นอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่มหาเศรษฐีหนีคดีบางคนกลับเมืองไทยมาได้อย่างเงียบ และใช้ชีวิตสุขสบาย

คนไทยเราคุ้นเคยกับ “บุคคลต่างแดน” ในคดีการเมืองทั้งหลายแหล่เป็นอย่างดี แต่ไม่ว่าพวกเขาจะโดนข้อหาอะไร การดำเนินคดีควรเป็นไปภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรมในระบบประชาธิปไตย ไม่ใช่กฎหมายที่บิดเบือนภายใต้กระบอกปืนของเหล่านายพล

แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยพูดถึงกัน คือการหนีไปต่างแดนของผู้ซึ่งต้องคดี “อาชญากรรมคอปกขาว” (white-collar crime) ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งบัญชี ทําธุรกรรมทับซ้อน ฟอกเงิน หลอกลวงให้ลงทุน และอื่นๆ และการกลับมาเมืองไทยใช้ชีวิตสุขสบายเพราะคดีสิ้นอายุความ

ซึ่งสะท้อนไปถึงความเหลื่อมล้ำของสังคม คนจนขโมยพันบาท ติดคุกหัวโต คนรวยปล้นพันล้าน ใช้ชีวิตไฮโซ และสะท้อนถึงความ(ไม่)มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ เพราะระบบเศรษฐกิจของเราขาด “accountability”
Responsibility คือความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน
Accountability คือความรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ
วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เริ่มที่ประเทศไทย เศรษฐกิจพังระเนระนาดเป็นลูกโซ่ไปทั้งทวีป บริษัทปิดกิจการ ผู้คนล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว บ้างต้องฆ่าตัวตายเพราะแบกภาระไม่ไหว

ในช่วงนั้น ปิ่น จักกะพาก เจ้าของฉายา “พ่อมดการเงิน” เป็นผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจ หรือ “ฟินวัน” ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวโทษนายปิ่นและอีกสองผู้บริหาร ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทำทุจริตในการอนุมัติสินเชื่อ สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรฐกิจ

นายปิ่นได้หลบหนีคดีไปอยู่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 15 ปี ใช้ชีวิตสุขสบายเพราะเป็นมหาเศรษฐี คดีหมดอายุความเมื่อต้นปี 2555 ทุกวันนี้ใช้ชีวิตสุขสบายในเมืองไทยเพราะเป็นมหาเศรษฐี
เฉกเช่นเหล่าบุคคลต่างแดน ผิดหรือไม่ผิดก็ว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมายที่เป็นธรรม แต่ถ้ากฏหมายมีช่องโหว่ เราควรแก้ไขที่กฏหมาย

หลักการของอายุคดีความ คือการให้ความเป็นธรรมต่อจำเลยด้วยการดำเนินคดีในระยะเวลาที่อันควร ไม่ใช่ลากยาวเหยียดเป็น 10 ปี ซึ่งจําเลยอาจไม่มีความผิดจริง แต่ต้องมาเสียเงิน เวลา และชื่อเสียง เพื่อสู่คดีความ
หมายความว่า กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ต้องไม่ล่าช้า
แต่ช่องโหว่ของกฎหมายคือ คนจนไม่มีที่ไป แต่มหาเศรษฐีหนีไปใช้ชีวิตไฮโซที่อื่นได้ หมดอายุความก็กลับมาไฮโซที่เมืองไทย

อีกผลกระทบคือ อนาคตเศรษฐกิจของประเทศ แบคกราวนด์ของผมคือนักข่าวนักวิจารณ์ภาคภาษาอังกฤษ มีนักลงทุนต่างชาติขอปรึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยตลอดเวลา พวกเขามีความกังวลอยู่ 3 ปัจจัยหลัก: อาชญากรรมคอปกเขียว (รัฐประหาร) ทุจริตคอรัปชั่น และความไม่มี accountability
พวกเขาไม่ได้ห่วงโจรข้างตึกปล้นหลักพัน พวกเขาห่วงโจรใส่สูทปล้นหลักพันล้าน แต่ลอยนวลได้เพราะช่องโหว่ของกฎหมาย พวกเขาเป็นห่วงความเสี่ยงของเงินลงทุนของตน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทวีปที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เงินทุนอยากหลั่งไหลเข้ามา แต่มีหลายเหตุผลที่เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน เหตุผลที่สำคัญอันหนึ่งคือ ความไม่มี accouability ของประเทศเรา

พ่อมดการเงินจะมีอีกเรื่อยๆ ถ้ารัฐไม่มีวิธีป้องกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่รวมไทยยูไนเต็ดต้องการผลักดันคือ อายุคดีความต้องไม่ครอบคลุมการหนีคดี เพราะการหนีคดีคือการโกงกระบวนการยุติธรรม และรวมไทยยูไนเต็ดจะติดตามกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องมีการพลักดัน
นี่คือ accountability การรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งกฎหมายและวัฒนธรรมของประเทศไทยควรมี