คดีรฟม.แก้TORรถไฟฟ้าสายสีส้ม?!? ฟังดร.สามารถชี้ แม้ศาลทุจริตรับฟ้องยังรอดได้ หากกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ผ่าน ครม.แล้ว

1592

หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้รับคำฟ้องของบีทีเอสที่ฟ้อง ผู้ว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 รวมทั้งหมด 7 คน กรณีเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล และยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เป็นโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องหลายคนได้เริ่มทบทวน การตัดสินใจในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาว่าถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือไม่  ตลอดจนมีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ออกไปตามวาระ และบางส่วนลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว ก็จะได้พิจารณากลับไปใช้เกณฑ์เดิมอย่างเหมาะสม สามารถเดินหน้าจัดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ค้างเติ่งต่อไปได้อย่างโปร่งใส หากคิดดึงดันว่ามีอำนาจทำได้ ให้ย้อนกลับไปดู “โครงการทุจริตจำนำข้าว” ที่ข้าราชการรับใช้นักการเมืองจนเกิดความเสียหายมหาศาล บั้นปลายต้องรับโทษหนัก นักการเมืองสั่งแล้วหนีไปเสพสุข

เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้อง “บีทีเอส” สอบ รฟม. ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และนัดไต่สวน 27 ก.ค.นี้ คาดว่าการพิจารณาน่าจะถึงสิ้นปีนี้จึงทราบผลสรุป ขณะที่กลุ่มบีทีเอส อยู่ในช่วงพิจารณายื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายตามสิทธิ์

เรื่องนี้ พ.ต อ.สุชาติ​ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า​ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งรับคำฟ้องของบีทีเอส กรณีผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 รวม 7 คน แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูลดังกล่าว เบื้องต้น​ ศาลฯ นัดไต่สวนในวันที่ 27 ก.ค.นี้ และเปิดโอกาสให้ รฟม.ส่งคำแถลงภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหมายแจ้งนัด ซึ่งจะดำเนินการหรือไม่ก็ได้ 

ขณะเดียวกันศาลฯ ยังได้มีการสอบถาม​ กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำการส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ให้สอบสวนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยทางทนายความบีทีเอส​ ยืนยันว่า มีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สอดคล้องกัน แต่เป็นการฟ้องร้องของบุคลลภายนอกที่หยิบยกประเด็นการฮั้วประมูลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลฯ จะนำประเด็นนี้ มาประกอบการพิจารณาด้วย

ส่วนกรณีที่ รฟม. จะเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่หรือไม่นั้น อยู่ที่การตัดสินใจของ รฟม. แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนหลังจากนี้บีทีเอสจะดำเนินการฟ้องร้องเพื่อระงับการประมูลหรือไม่ จะต้องดูเงื่อนไขการเปิดประมูลครั้งใหม่เสียก่อน

ทางด้านดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจราจรขนส่งมหภาคได้ส่งเสียงเตือน รฟม.ดังๆให้รีบเปลี่ยนใจที่จะดึงดันเดินหน้าเปิดประมูลด้วยเกณฑ์ใหม่เจ้าปัญหาเสีย เพราะโอกาสทำในสิ่งที่ถูกต้องมาถึงแล้ว

ดร.สามารถฯกล่าวว่า การเดินหน้าประมูลโดยใช้เกณฑ์ใหม่ ซึ่งรวมซองเทคนิคกับซองผลตอบแทน อาจทำให้มีการฟ้องร้องกันอีก โครงการก็จะล่าช้าออกไปอีกนาน และที่สำคัญ กรรมการคัดเลือกฯ บางคนคงไม่กล้าเห็นชอบให้ใช้เกณฑ์ใหม่ เนื่องจากกลัวจะถูกฟ้องร้องเหมือนอย่างกรรมการคัดเลือกฯ ชุดเดิม

ดังนั้น ในจังหวะที่มีการเปลี่ยนกรรมการคัดเลือกฯ จึงเป็นโอกาสดีของ รฟม.ที่จะกลับมาใช้เกณฑ์เดิม นั่นคือแยกซองเทคนิคออกจากซองผลตอบแทน จะทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีภายในระยะเวลาสั้น

นอกจากนี้ ดร.สามารถได้กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาน่าเห็นใจกรรมการคัดเลือกฯ บางคนที่ไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม เมื่อถูกป้อนข้อมูลว่าเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่าน “พื้นที่อ่อนไหวและมีความซับซ้อน” ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการก่อสร้าง ทำให้กรรมการคัดเลือกฯ เหล่านั้นหวั่นวิตก จึงเห็นด้วยให้เปลี่ยนเกณฑ์การประมูล ทั้งๆ ที่ เกณฑ์การประมูลเดิมมีความเหมาะสมสำหรับการก่อสร้างใน “พื้นที่อ่อนไหวและมีความซับซ้อน” มากกว่าเกณฑ์ใหม่ ซึ่งในที่สุด กรรมการคัดเลือกฯ เหล่านั้นได้ถูกฟ้องร้องติดร่างแหไปด้วย

คำแนะนำของดร.สามารถฯจะเปลี่ยนใจรฟม.ได้หรือไม่นั้นต้องรอดูต่อไป?

แต่กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ ยืนยันแล้วว่า มึความไม่ชอบมาพากลอย่างมาก เพราะนอกจากศาลอาญาคดีทุจริตฯจะรับฟ้องแล้ว  ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็รับลูกต่อจากดีเอสไอ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา

กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นคดีเกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดทำโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของภาครัฐให้กับประชาชนของรัฐบาล และเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเมื่อการสืบสวนเสร็จสิ้นแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเผยแพร่ผลการดำเนินการให้กับประชาชนได้รับทราบความคืบหน้า ต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตุว่า คดีนี้จะซ้ำรอยกับคดีโครงการรับจำนำข้าว การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจีหรือไม่? คดีทุจริตจำนำข้าวนั้น ฝ่ายการเมืองกำหนดนโยบาย และมีฝ่ายข้าราชการรับลูก สนองนักการเมือง จนที่สุดแล้วก็ต้องถูกดำเนินคดีทั้งจำคุกในคดีอาญา และต้องชดใช้ความเสียหายในคดีแพ่งอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ,นายอัฐฐิติพงศ์ หรือ อัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ ,นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ ลำบากในบั้นปลายชีวิตด้วยคนละหลายคดีก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว