กลายเป็นประเด็นร้อน ถาโถมวิกฤตการบินไทยที่กำลังเดินหน้ากระบวนฟื้นฟูกิจการ จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน )
ได้ลงนามในคำสั่ง ที่ 097/2563 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2563 แต่งตั้งนางพงศ์อุมา ดิษยะศริน ผู้จัดการกองบริหารทรัพยากรและสนับสนุนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยความมั่นคงและมาตรฐานการบิน (JO)ระดับ 9 ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (รักษาการ 4F)ในระดับ 10 ควบคู่อีกตำแหน่ง
โดยในคำสั่งระบุด้วยว่าให้ นางพงศ์อุมา รักษาการในตำแหน่งดังกล่าวไปก่อน จนกว่าคณะทำงานจะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจะดำเนินการตกลงโครงสร้างบริษัทแล้วเสร็จ โดยให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานใน 3 เดือน ขณะที่มีรายงานว่านางพงศ์อุมา ดิษยะศริน จะเกษียณอายุในเดือน ก.ย. 2564
ประเด็นสำคัญคือ มีรายงานข่าวระบว่า ก่อนหน้านี้จะเกิดกรณีดังกล่าว ได้มีความพยายามดำเนินการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง นางพงศ์อุมา ดิษยะศริน ภรรยาของ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานบอร์ดการบินไทย และหนึ่งในทีมผู้จัดทำแผนฟื้นฟู บมจ.การบินไทย จากผู้จัดการกอง ระดับ 9 สังกัดฝ่ายความปลอดภัย ความมั่นคงและมาตรฐานการบิน ขึ้นเป็นผู้อำนวยการระดับ 10 สังกัดสายการพาณิชย์ แต่เกิดกระแสต่อต้านจากหลายฝ่ายภายในองค์กร
เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแต่งตั้งข้ามฝ่าย ข้ามสายงาน และโดยหลักการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในแต่ละฝ่าย ควรจะต้องมีการคัดสรรผู้เหมาะสมจากสายงานเดิมกันก่อน ยกเว้นสรรหาแล้วไม่มีบุคคลที่เหมาะสมจึงพิจารณาคัดสรรจากฝ่ายอื่น จึงเท่ากับว่ามีความพยายามผู้บริหารระดับสูง
ใช้อำนาจสั่งการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและคนใกล้ชิด จากสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ทั้งเงินเดือนและสิทธิอื่น ๆ อาทิเช่น ค่าน้ำมันรถ ,สิทธิ์ที่นั่งชั้น 1 (เฟิสต์คลาส) ตลอดชีพทั้งครอบครัว จากเดิมเป็นสิทธิ์ที่นั่งชั้นธุรกิจ (บิซซิเนส) จนสุดท้ายเรื่องดังกล่าวเงียบหายไป แล้วมาเกิดเหตุกรณีใกล้เคียงกับปัญหาเดิมอีกครั้ง
ขณะที่การตรวจสอบเพิ่มเติม พบกระแสการต่อต้านภายในองค์กรอย่างรุนแรงใน 3 ประเด็นสำคัญ ที่ต้องพิจารณาประกอบถึงเหตุผล ว่าทำไมพนักงานบมจ.การบินไทย ถึงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าผู้บริหารบมจ.การบินไทยจะอ้างว่าเป็นการดำเนินการอย่างถูกต้อง
1. กรณีการพิจารณาจัดหาตำแหน่งให้กับภริยาประธานบอร์ดการบินไทย มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากมีคำสั่งการให้รองผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการบิน จัดหาตำแหน่งระดับผู้จัดการให้กับบุคคลผู้ใกล้ชิด จากประจำฝ่ายวางแผน บมจ.การบินไทย (ระดับ 8) มานั่งเก้าอี้ผู้จัดการกอง (ระดับ 9 ) ฝ่ายมาตรฐานความปลอดภัย
2. ตามข้อมูลระบุว่า ภายหลังทำหน้าที่ผู้จัดการกองมาครบ 1 ปี เมื่อเดือนเม.ย. 2563 ได้มีคำสั่งเพิ่มเติมให้พิจารณาตำแหน่ง ขยับจากผู้จัดการกอง ฝ่ายมาตรฐานความปลอดภัย ขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมผู้จัดการการบินไทย หรือ AA ทั่วโลก แต่ด้วยกระแสข่าวผ่านสื่อมวลชน นำเสนอถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ว่าด้วยอายุงานที่เหลือ จึงทำให้เรื่องนี้เงียบหายไป
3. การพิจารณาโยกย้ายครั้งล่าสุด ให้ดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ระดับ 10) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเร่งรัดแต่งตั้ง ให้สอดรับกับอายุงานที่เหลือ โดยไม่ได้มีการพิจารณาคุณสมบัติ และขีดความสามารถ ตลอดจนสถานการณ์ทางธุรกิจที่บมจ.การบินไทยต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางด้าน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผล เหตุกรณีการพิจารณาแต่งตั้ง นางพงศ์อุมา รับผิดชอบตำแหน่ง รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งตำแหน่ง โดยอ้างว่าการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง แต่เป็นความเห็นชอบร่วมกับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อีก 7 คน เนื่องจากตนเองเพิ่งมารับตำแหน่งรักษาการดีดี การบินไทย ได้เพียง 3 เดือน 4 วัน
ส่วนประเด็นว่าด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติ คณะทำงานพิจารณาเห็นว่า นางพงศ์อุมา เคยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลภารกิจ ด้านภาพลักษณ์องค์กร และเป็นพนักงานการบินไทยมา 30 ปี จึงเชื่อว่าด้วยขีดความสามารถและประสบการณ์ จะช่วยงาน CSR ให้กับบมจ.การบินไทยได้
ล่าสุดเนื่องในโอกาสที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร พร้อมฝ่ายบริหารจะจัดให้มีการบรรยายพิเศษเพื่อให้ข้อมูลแก่พนักงานในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการ ในวันศุกร์ที่ 9 ต.ค. 2563 ณ ห้องออดิทอเรียม สำนักงานใหญ่บมจ.การบินไทย ปรากฎว่าทางสหภาพบมจ.การบินไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 ระบุใจความสำคัญ เรื่องขอแสดงจุดยืนในนโยบาย และมติที่ประชุมใหญ่สมาชิกสหภาพแรงงานการบินไทย
ในการสนับสนุนแผนฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลาย และจัดคัดค้านการกระทำใด ๆ ที่เป็นการขัดต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ที่จะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร กระทบต่อความเชื่อมั่นของสาธารณะและพนักงานการบินไทย รวมทั้งการกระทำใด ๆ อันส่งผลต่อความไว้วางใจของเจ้าหนี้
สหภาพแรงงานการบินไทย (สร.กบท.) จึงขอเชิญพนักงานทุกท่านที่มีหัวใจ รักความความถูกต้องเป็นธรรม พร้อมร่วมมือสนับสนุนการฟื้นฟูบริษัทฯในแนวทางที่ถูกต้อง แต่งกายด้วยชุดดำ เข้าร่วมประชุม staff meeting โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อซักถามรักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ในทุกประเด็นปัญหาที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาสังคม ทั้งภายในและภายนอกในขณะนี้