ถึงคิวรัสเซียจับมือทัพเรืออาเซียนร่วมฝึกทางทะเลครั้งแรกในรอบทศวรรษ ท่ามกลางความตึงเครียดของสถานการณ์น่านน้ำทะเลจีนใต้ระหว่างสหรัฐและจีนกองทัพเรือของรัสเซียและชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียนเริ่มเปิดฉากฝึกซ้อมทางทะเลนอกชายฝั่งอินโดนีเซียในช่องแคบมะละกา เมื่อวันพุธที่ผ่านมายาวไปถึงวันเสาร์ที่ 4 ธ.ค.นี้ หลังจากอาเซียนเคยฝึกกับสหรัฐและจีนมาแล้ว ด้านกองทัพไทยส่งหน่วยกองทัพเรือพร้อมยุทโธปกรณ์เรือรบและเครื่องบินรบเข้าร่วมด้วย
เมื่อวันพุธที่ 1 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างคำแถลงของกองทัพเรืออินโดนีเซียว่าชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมการฝึกร่วมกับกองทัพเรือรัสเซียโดยมีอินโดนีเซีย, ไทย, สิงคโปร์, เวียดนาม, มาเลเซีย, เมียนมา และบรูไน ส่งเรือรบและอากาศยานร่วมฝึก ส่วนฟิลิปปินส์สังเกตการณ์ผ่านระบบทางไกล
อเล็กซานเดอร์ อีวานอฟ ทูตรัสเซียประจำอาเซียน(Alexander Ivanov :Russia’s ambassador to ASEAN ) กล่าวในแถลงการณ์ว่า การฝึกครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสันติภาพ, เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้
ด้านอาร์สยัด อับดุลลาห์ ผู้บัญชาการกองเรือที่ 1 ของอินโดนีเซีย ( Arsyad Abdullah)กล่าวว่า การฝึกนี้จะปรับปรุงขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันและความเข้าใจระหว่างกองทัพรัสเซียกับกองทัพของประเทศอาเซียน
นักวิเคราะห์มองว่า การฝึกครั้งนี้จะตอกย้ำหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงยามที่มีความตึงเครียดในภูมิภาคระหว่างสหรัฐและจีน
คอนนี ราฮาคุนดินี บาครี นักวิเคราะห์ทางทหารของอินโดนีเซีย จากสถาบันศึกษาด้านการป้องกันและความมั่นคง กล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาเซียนที่ต้องรับประกันสมดุลอำนาจในภูมิภาคของเรา เพื่อย้ำว่าภูมิภาคนี้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
การฝึกซ้อมร่วมระหว่างรัสเซียและชาติสมาชิกอาเซียนนี้เกิดมาจากข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่มีเวียดนามเป็นเจ้าภาพและในเวลาเดียวกันยังแสดงให้เห็นการสนับสนุนของเวียดนามต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและกลุ่มอาเซียนไปในตัว
สื่อเวียดนามระบุว่า เป้าหมายการฝึกมีเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือรัสเซียและกองทัพเรือของสมาชิกชาติอาเซียนเพื่อให้ความมั่นคงกับการเคลื่อนไหวเศรษฐกิจทางทะเลและการจราจร ทั้งนี้ปราโบโว สุเบียนโต(Prabowo Subianto)รัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย มีกำหนดที่จะเปิดการฝึกซ้อมรบบนเรือต่อต้านเรือดำน้ำแอดมิรอล แพนเตเลเยฟ( Admiral Panteleev)ด้วย
คอลลิน โค้ว (Collin Koh)ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงทางทะเลประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยางของสิงคโปร์แสดงความเห็นว่า ถึงแม้การฝึกซ้อมรบร่วมทางทะเลระหว่างรัสเซียและ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนไม่น่าจะมีการฝึกที่มีการแสดงทักษะสมรรถภาพการรบครั้งสูงรวมอยู่ด้วย แต่มันได้ส่งสารทางการเมืองที่สำคัญเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของกลุ่มอาเซียนออกมา
“รัสเซียถือเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจใหญ่และดังนั้นจึงมีความสำคัญที่อาเซียนจะต้องแสดงให้เห็นความสำคัญว่าต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางความมั่นคงกับผู้เล่นคนสำคัญทุกคน”โค้วชี้และเสริมต่อว่า “ชาติสมาชิกอาเซียนที่ผ่านมาต่างตั้งความหวังถึงการเข้าร่วมเพิ่มขึ้นของรัสเซียในภูมิภาคและนี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่พวกเราสามารถสร้างได้”
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กล่าวระหว่างการประชุมซัมมิตทางไกลเมื่อวันที่ 28 ต.ค ที่ผ่านมาโดยทั้งรัสเซียและอาเซียนได้ร่วมลงนามแผนเชิงปฎิบัติครอบคลุม 103 ข้อสำหรับความร่วมมือในวงกว้างระหว่างปี 2021 -2025 ได้แถลงยืนยันว่า การกระชับความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังคงเป็นสิ่งที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายระดับสูงในนโยบายต่างประเทศรัสเซีย
ขณะที่ กริกอรี โลคชิน (Grigory Lokshin) นักวิจัยชั้นนำประจำสถาบันวิทยาศาสตร์อคาเดมีรัสเซียด้านการศึกษาตะวันออกไกลอธิบายว่า “การพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อเครมลินที่ต้องการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาครัสเซียตะวันออกไกล
“การรวมตัวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นการส่งสารทางการเมืองที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกตะวันตกสั่งคว่ำบาตรต่อเรา” เขาอ้างถึงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯต่อรัสเซีย เรื่องผนวกแหลมไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียด้วยความเห็นชอบของประชาชนในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นชาวสลาฟพูดภาษารัสเซีย
สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานว่า จากมุมมองของมอสโกความเคลื่อนไหวทางการทหารสหรัฐฯภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุกคามต่อ “เสถียรภาพ” ซึ่งในเดือนมิถุนายนก่อนหน้านี้ เซอร์เก ซอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯต่อการส่งกลุ่มกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความพร้อมในการรบเข้าไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชี้ว่าการทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางทหารได้
ซอยกูชี้อีกว่า“ปัญหาเหล่านี้ถูกแสดงอย่างเด่นชัดมากที่สุดปัจจุบันนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” “บรรดาประเทศในภูมิภาคถูกบังคับให้ต้องเลือกข้างซึ่งเป็นการเกิดโครงสร้างคล้ายคลึงกับของนาโตที่กำลังถูกใช้กับคนเหล่านี้”