รัฐบาลสั่งอพยพคนไทย?!? ผวาเมียนมาปราบหนักดับครึ่งร้อย สิงคโปร์-เวียดนามเผ่นก่อนแล้ว ขณะUNประชุมลับเล็งบีบขั้นสุดทางทหาร

1833

สัญญาณความรุนแรงในเมียนมาระอุ ถึงขั้นเตรียมอพยพกันแล้ว อ้างความไม่ปลอดภัยโควิด-19 ด้วย ก็เรียกว่าทั้งสงครามคนสงครามเชื้อโรคบุกกระหน่ำเมียนมาสาหัสทีเดียว รัฐบาลไทยขยับแล้วสั่งอพยพเพิ่มเที่ยวบินเป็นวันที่ 12 และวันที่ 16 มี.ค.2564 ขณะที่สิงคโปร์และเวียตนามเตือนพลเมือง  และอพยพประชาชนออกมาบางส่วนแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองทวีรุนแรง หลังเมียนมาปราบปรามผู้ประท้วงดับ 50 ราย  การเคลื่อนไหวของนานาชาตินำโดยสหรัฐ เป็นไปอย่างเข้มข้น ตั้งแต่พระสันตปาปา ประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งประชุมร่วมกับเมียนมาไปเมื่อเร็วๆนี้ มี 4 ใน 10 ประเทศเรียกร้องให้ปล่อยอองซาน ซูจีและพวก แม้จะแถลงการณ์ยืนยันหลักการไม่แทรกแซงกันก็ตาม ต้องจับตาว่า วันนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่สหรัฐเป็นประธาน เรียกประชุมลับกรณีเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะมีการยกระดับกดดันเมียนมาขั้นสูงสุด เพราะกดดันเศรษฐกิจและการทูตนััน ไม่ระคายผิวกองทัพเมียนมาแต่อย่างใด คงเหลือแต่มาตรการทางทหารเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีแม้แต่น้อย  อย่างไรก็ตามถ้ามหาอำนาจจีน รัสเซีย อินเดีย ไม่เห็นด้วยก็ยังพอวางใจได้ว่า เราจะไม่ต้องเห็นกองกำลังสหประชาชาติมาป้วนเปี้ยนใกล้บ้านเราในระยะเวลาอันใกล้นี้

วันที่ 4 มี.ึค.2564 รัฐบาลไทยได้จัดเที่ยวบินอพยพประชาชนที่ต้องการเดินทางออกจากเมียนมา ในวันที่ 16 มี.ค.2564 นี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความไม่าปลอดภัยจากสถานการณ์การเมืองในหลายพื้นที่ของเมียนมา ซึ่งข้อมูลวันที่ 4 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมกว่า 142,000 รายเสียชีวิต 3,199 ราย

ล่าสุดเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง (Royal Thai Embassy, Yangon) ระบุว่า รัฐบาลไทยได้จัดเตรียมเที่ยวบิน relief flight กลับประเทศในวันที่ 12 มี.ค. และ 16 มี.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางสถานทูตแจ้งการจัดเตรียมเที่ยวบินเพียงวันเดียวในวันที่ 16 มี.ค.

1) เที่ยวบินแรก วันที่ 12 มี.ค. 2564 ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ภายในวันที่ 5 มี.ค. 2564

2) เที่ยวบินที่สอง วันที่ 16 มี.ค. 2564 ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ภายในวันที่ 11 มี.ค. 2564

ใครมีเพื่อน มีญาติที่ยังอยู่ที่เมียนมาอย่าลืมแชร์ข่าวนี้บอกต่อกันและติดต่อไปยังสถานทูตไทยในย่างกุ้งโดยด่วน

ทางด้านรัฐบาลเวียดนาม ก็ได้ส่งเครื่องบินรับประชาชนกลับประเทศ ในวันนี้ชาวเวียดนามจำนวนเกือบ 400 คนได้เดินทางออกจากเมียนมา 2 เที่ยวบิน ซึ่งมีการจัดเตรียมโดยสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำเมียนมา และสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์

กระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ แจ้งเตือนไปยังพลเมืองสิงคโปร์ที่ยังอยู่ในประเทศเมียนมาในเวลานี้ให้หาทางออกเดินทางออกจากเมียนมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุมประท้วง และติดตามข่าวสารในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทรงมีพระราชดำรัสเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง พร้อมทั้งทรงเรียกร้องให้มีการเจรจาในเมียนมาเพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  นอกจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า เยาวชนในเมียนมาไม่ควรจะเผชิญกับอนาคตที่มีแต่ความเกลียดชัง แต่ควรมีการสมานฉันท์

ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเคยเสด็จเยือนเมียนมาในปี 2560

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้จัดการประชุมวานนี้ โดยที่ประชุมได้เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมา และจัดการเจรจาเพื่อแก้ไขวิกฤตการทางการเมือง

องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงรวม 50 รายนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ ขณะที่แกนนำของการชุมนุมระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตมีมากกว่าจำนวนดังกล่าว

นางคริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำเมียนมา เปิดเผยว่า ตนได้เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเมียนมา และได้เตือนว่าเมียนมา จะถูกโดดเดี่ยวจากประเทศต่างๆ และจะถูกตอบโต้ต่อการทำรัฐประหารในเดือนก.พ. แต่เมียนมาก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อท่าทีของนานาชาติแต่อย่างใด

นางบูร์เกเนอร์กล่าวว่า ตนได้สนทนากับพล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐของเมียนมา เพื่อเตือนเกี่ยวกับผลกระทบที่เมียนมาจะได้รับ “คำตอบของเขาคือ เราเคยถูกคว่ำบาตรมาแล้ว และเราก็รอดมาแล้ว และเมื่อดิฉันเตือนว่าพวกเขาจะถูกโดดเดี่ยว คำตอบคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะเดินร่วมกับเพื่อนเพียงไม่กี่ประเทศ” นางบูร์เกเนอร์กล่าว

สำหรับสถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้มีการอพยพของประชาชนตามพรมแดนบ้างแล้วเช่นล่าสุด มีชาวเมียนมา 12 คน ข้ามพรมแดนเพื่อลี้ภัยในรัฐมิโซรัมของอินเดีย เช่นนี้ก็คงต้องระวังชายแดนของไทยด้วยยิ่งปราบหนักยิ่งมีโอกาสที่คนเมียนมาจะหนีมาไทยได้

เมื่อวานนี้  (4 มี.ค.2564) รายงานจากเว็บไซต์ indiatoday  โดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐมิโซรัม ว่า ภายหลังการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา มีชาวเมียนมาอย่างน้อย 12 คน ข้ามพรมแดนอินเดียบริเวณรัฐมิโซรัม ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมา ระยะทาง 404 กม. โดย ระหว่าง 3-4 มี.ค.64 มีชาวเมียนมา 8 คน ข้ามพรมแดนเข้าทางเขต เซิร์ชฮิป(Serchhip) ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ที่ หมู่บ้าน ลังคาวล์ (Lungkawlh) ห่างจากพรมแดน เมียนมา- อินเดีย 8 กม. และอีก 4 คน ข้ามพรมแดนทางเขตแชมไพ (Champhai)  ทั้งนี้ยังมีชาวเมียนมามากกว่า 100 คนพยายามข้ามพรมแดนเพื่อลี้ภัยในอินเดียแต่ถูกสกัดกั้นจากหน่วยทหาร Assam Rifles ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาชายแดนของอินเดีย

และที่ต้องจับตาดูอย่างมากคือ การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ UNSC:United Nations Security Council ในวันนี้

สำนักข่าว NHK และ AFP รายงานว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กำหนดประชุมลับ (ที่เรียกว่า closed door) เกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมาในวันนี้ เวลาประมาณ 15.00 น. (GMT) ตามข้อเรียกร้องของสหราชอาณาจักร ขณะที่สหรัฐฯ แสดงความห่วงกังวลต่อความรุนแรงในเมียนมาและจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งจะร่วมมือกับญี่ปุ่นและอินเดียในการกดดันเมียนมา ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติ (UN) แถลงเมื่อ 3 มี.ค.64 ว่า สถานการณ์ในเมียนมาส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค และอาจนำไปสู่สงคราม พร้อมเรียกร้องให้ UNSC และสมาชิก UN ร่วมเจรจาและกดดันกองทัพเมียนมาด้วยมาตรการขั้นรุนแรง  ขณะที่กองทัพเมียนมาแถลงตอบโต้ว่า ไม่วิตกต่อการคว่ำบาตรครั้งใหม่จากประชาคมระหว่างประเทศ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือได้เช่นเดียวกับการคว่ำบาตรที่ผ่านมา

การที่เมียนมาตอบอย่างมั่นใจ แสดงว่ามั่นใจในพันธมิตรที่ใกล้ชิด คงต้องจับตาดูว่ามาตรการขั้นรุนแรงที่สหรัฐบอกว่าจะผลักดันให้เป็นมติในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงคืออะไร และจะส่งผลกระทบกับประเทศไทย และอาเซียนอย่างไร ไม่นานจะได้รู้กัน!