จับตา-ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกหญิงแห่งอิลลินอยส์ เธอเป็นฮีโรในสงครามอเมริกา และมีโอกาสเป็นรองประธานาธิบดีของโจ ไบเดน

2843

สื่อมวลชนหลายฉบับในสหรัฐอเมริกา เริ่มจุดประเด็นให้ความสนใจ ลัดดา แทมมี่ดักเวิร์ธ ชาวอเมริกันเชื้อสายไทย วุฒิสมาชิกจากอิลลินอยส์ สังกัดพรรคเดโมแครต เธอเป็นวีรบุรษผ่านสงครามในฐานะนักบินหญิงสหรัฐฯ ด้วยมีคุณสมบัติโดดเด่น ตรงไปตรงมา กล้าหาญและอ่อนน้อม ที่สำคัญเธอเหมือนสัญญลักษณ์แห่งการฟันฝ่าเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์วิกฤติ และกลับมายืนได้อย่างสง่างาม สื่ออย่างน้อย นิวยอร์กไทม์สและยูเอสเอทูเดย์ ได้เปิดประเด็นนี้ต่อเนื่องมาพอสมควร โจ ไบเดนยังไม่แสดงจุดยืนและการตัดสินใจในระยะนี้ เพราะแคนดิเดทหญิงในฐานะรองประธานาธิบดียังมีอีก 3 คน

ไบเดนแง้มคุณสมบัติที่พึงปรารถนาของคนที่จะมาเป็น running mate (ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในตำแหน่ง รองประธานาธิบดี) ของเขาให้ฟังว่า
“ในบรรดาผู้หญิงที่ผมพิจารณาอยู่เกือบทั้งหมดมีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศ และกิจการความมั่นคงและการป้องกันประทเศ แต่นี่ไม่ใช่คุณสมบัติขั้นต่ำคุณสมบัติที่พึงมีก็คือ พวกเธอจะต้องมีความฉลาด ความเยือกเย็น และคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่จะทำให้ทุกคนเชื่อได้ว่า เธอพร้อมที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันแรก”

ส่วนผู้หญิงผิวสีที่อยู่ในข่ายความสนใจของไบเดนก็มี คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ส.ว.จากแคลิฟอร์เนีย ลูกครึ่งเชื้อสายจาเมกา-อินเดีย และกลุ่มนักการเมืองเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันอย่าง ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) อดีตที่ปรึกษาความมั่นคง คาเรน เบส (Karen Bass) ส.ส.จากแคลิฟอร์เนีย วัล เดมิงส์ (Val Demings) ส.ส.จากฟลอริดา
ดักเวิร์ธ อาจไม่ใช่ตัวเลือกลำดับต้น ๆ แต่ในความเห็นของ แฟรงก์ บรูนี (Frank Bruni) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์มองว่า ส.ว.หญิงลูกครึ่งไทย-อเมริกัน มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นคู่ลงสมัครร่วมกับไบเดน เนื่องจากเธอเป็นสัญลักษณ์ของคุณสมบัติ และค่านิยมที่ตรงข้ามกับอุดมคติของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างชัดเจนที่สุด เป็นผู้ที่มีทั้งเกียรติ รู้จักความเสียสละ และอ่อนน้อมถ่อมตน

ดักเวิร์ธ ในวัย 52 ปี เป็นสมาชิกวุฒิสภาสมัยแรก หลังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 2 สมัย ก่อนนั้นเธอเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ในสงครามอิรัก เครื่องแบล็กฮอว์กของเธอถูกยิงตกใกล้กับแบกแดดในปี 2004 แรงระเบิดทำให้เธอเกือบเสียชีวิต เธอรอดตายมาได้แม้จะเสียขาไปสองข้างก็เนื่องจากความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมรบซึ่งเธอมองว่าพวกเขาคือฮีโรตัวจริง ไม่ใช่เธอ
ดักเวิร์ธโด่งดังฮือฮาขึ้นมาด้วยสำนวนที่เธอใช้ตอบโต้ปธน.ทรัมป์ฯ ที่ว่าใครไม่ตบมือให้เขาในการประชุมรัฐสภาฯ เป็นพวกไม่รักชาติ เธอทวิตตอบโต้เขาว่า เธอเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ตบมือ แต่เธอพร้อมตายเพือธงชาติสหรัฐฯและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และไม่ได้มีหน้าที่ตบมือให้กับ “นักเรียนนายร้อยกระดูกส้นเท้า (Cadet Bone Spurs)” เป็นคำใช้เหน๊บแนมทรัมป์ที่เลี่ยงการเป็นทหารถึง 5 ครั้งในช่วงสงครามเวียดนามด้วยเหตุผล มีโรคประจำตัวที่กระดูกส้นเท้า

จากการสำรวจในระดับประเทศของนิวยอร์กไทม์ส พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นดักเวิร์ธเป็นทางเลือกที่เหมะสมเพียง 18 % และกว่า 72 % ไม่รู้จักเธอ

บรูนี่ ทำงานกับนิวยอร์กไทม์ส ตั้งแต่ปี 2538 เริ่มจากทำงานข่าวทั่วไป จนเป็นผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว และเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวประจำกรุงโรม เป็นนักข่าวสายนิยมเดโมแครตอย่างเปิดเผย จึงไม่แปลกที่เขาจะเชียร์ดักเวิร์ธเพราะเธอมีคุณสมบัติที่ตรงกันข้ามกับปธน.โดนัลด์ ทรัมป์อย่างชัดเจนคือ เป็นคนผิวสี เฉลียวฉลาด อ่อนน้อม และทรัมป์ยากจะใช้ท่าทีในทางลบหรือเสียดสีเธอได้ตามแต่ใจ

………………………………….
Cr:usatoday, chicagotribune