ชื่นมื่น!?!นายกฯพบบิ๊กเชฟรอนและสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน จับมือฟื้นเศรษฐกิจ สู้โควิดหนุนแจกวัคซีนทั่วถึง

1686

บิ๊กตู่ขอบคุณนักลงทุนสหรัฐฯที่เหมือนเพื่อนเก่า และเชื่อมั่นลงทุนในไทย สัญญากระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ-ความมั่นคง-พัฒนาทุนมนุษย์ ฝั่งผู้นำสภานักธุรกิจสหรัฐ-อาเซียนและซีอีโอเชฟรอน สนใจปักหมุดหนุนไทยฟื้นเศรษฐกิจการลงทุนเต็มที่ ทั้งชื่นชมไทยต่อสู้โควิดดีเยี่ยมและพร้อมสนับสนุนแจกจ่ายวัคซีนให้ทั่วถึง เห็นรอยยิ้มทุกฝ่ายแล้วโล่งอก บรรยากาศแบบนี้ ม็อบคงไม่ปลื้ม?

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2563) เวลา 09.30 น. ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เปิดโอกาสให้ คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) ในรูปแบบกึ่งออนไลน์ (hybrid) โดยมีคณะนักธุรกิจบริษัทสมาชิก USABC จำนวน 28 บริษัท เข้าเยี่ยมคารวะที่กระทรวงการต่างประเทศ และคณะนักธุรกิจบริษัทสมาชิก USABC จำนวน 11 บริษัท เข้าเยี่ยมคารวะผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเป็นโอกาสในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุป ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับ นายอเล็กซ์ เฟลด์แมน ประธาน USABC นายเจฟฟ์ เลอร์แมน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Chevron Asia South และคณะผู้บริหาร USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก USABC ทุกท่าน ทั้งที่เข้าร่วมที่ทำเนียบรัฐบาลและผ่านระบบทางไกล 

ชื่นชมนายไมเคิล ดีซอมเบร เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการพบปะหารือกับคณะผู้แทน USABC เป็นประจำทุกปีเปรียบเสมือนการพบเพื่อนเก่า และการพบกันครั้งนี้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเปรียบเสมือนเครื่องพิสูจน์ความใกล้ชิด และความพร้อมในการร่วมมือระหว่างกัน เชื่อมั่นว่าการพบกันในวันนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการกระชับความร่วมมือ ดำเนินนโยบายมองไปข้างหน้าร่วมกัน เพื่อฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น 

นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 8 ร่วมกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ โรเบิร์ต โอไบรอัน ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้อาเซียน-สหรัฐฯ กระชับความร่วมมือใน 3 ประเด็น ซึ่งเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือเหล่านี้ได้ ได้แก่ 

  1. การส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย และการผลิตยาและวัคซีนต้านโควิด-19 
  2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ด้วยการสร้างความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานสินค้า และ 
  3. การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต การฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในสาขาใหม่ๆ และการพัฒนาทักษะภาษา 

ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนยังได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุม 15 ประเทศ มี GDP รวมกันมูลค่ากว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 30 ของ GDP โลก ครอบคลุมตลาดที่มีจำนวนประชากรรวมกว่า 2.2 พันล้านคน โดยความตกลงดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์และโอกาสให้แก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจและมีการลงทุนในไทยด้วย 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการที่สำคัญของนโยบายไทย กล่าวคือ ไทยดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างจริงจังต่อเนื่อง  ไทยมีจุดแข็งด้านระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับในแวดวงผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของไทยในด้านสาธารณสุขอันเป็นผลจากการลงทุน ในด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงความร่วมมือกับ CDC (Centres for Disease Control and Prevention) และ AFRIMS (Armed Forces Research Institute of Medical Sciences) ของสหรัฐฯ ประกอบกับประสบการณ์รับมือการแพร่ระบาดช่วงโรคซารส์ เมื่อปี 2546 

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท (เท่ากับ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้ดำเนินมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือทางภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับภาคธุรกิจ มาตรการช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในส่วนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลให้ความสาคัญกับการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะการสนับสนุนเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงานที่สำคัญของไทย 

นอกจากนี้ รัฐบาลมองไปข้างหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคหลังโควิด-19 ให้ความสำคัญกับแนวคิด “สามใหม่” (Three New) ซึ่งได้นำเสนอในการประชุม ASEAN ที่ผ่านมา เป็นแนวทางในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ภายใต้วิถีปกติใหม่ ได้แก่ 1. การส่งเสริมการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 2. การแสวงหาพลังเศรษฐกิจใหม่โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของภูมิภาค และ 3. การสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นการเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ประชาชนและธุรกิจรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ ทั้งสามด้านจะประสบความสำเร็จได้เมื่อทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม 

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการลงทุน หากมีการเอื้ออำนวยและส่งเสริมสภาวะแวดล้อมที่ดีต่อการลงทุน ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านการลงทุนอย่างยิ่งในโลก พร้อมกล่าวชื่นชมการรับมือกับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของไทย ที่ประสบสำเร็จและได้รับการยอมรับเป็นที่ประจักษ์

ประธาน USABC กล่าวชื่นชมการจัดการโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนของสหรัฐฯ โดยไทยเป็นตลาดการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูอาเซียนภายหลังโรคโควิด-19 ทั้งนี้ USABC ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแสวงหาความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข 2) สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค 3) การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยินดีร่วมมือกับไทยในการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงและราบรื่น พร้อมหวังว่าประเทศไทยจะเปิดเสรีในการเดินทางข้ามพรมแดนมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้เข้าร่วม ชื่นชมทุกบริษัทที่ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด และย้ำไทยให้ความสำคัญ โครงการ EEC ขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมขยายการลงทุน ยินดีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นสนใจเพื่มการลงทุนในไทย และที่ EEC อย่างต่อเนื่อง 

อนึ่ง ในช่วงการตอบคำถามนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่ไทยให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาสังคม ซึ่งหวังว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนักธุรกิจสหรัฐฯ