ชาวนาอินเดียเฮ!?สู้มา 1 ปีรัฐบาลยอมถอนกม.ปฏิรูปเกษตร หวั่นถูกเทเลือกตั้งท้องถิ่น

793

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศจะยกเลิกกฎหมายปฏิรูปเกษตรกรรม 3 ฉบับ ที่กลุ่มเกษตรกรระบุว่า เป็นกฎหมายที่เปิดทางให้เอกชน และต่างชาติ เข้ามามีอำนาจในการกำหนดราคาพืชผลการเกษตร และจะทำให้รายได้ของพวกเขาหดหายในอนาคต การประกาศยกเลิกกฎหมายปฏิรูปการเกษตร นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของกลุ่มเกษตรกรที่ออกมากดดันรัฐบาล ประท้วงยืดเยื้อยาวนานกว่า 1 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลยังแข็งกร้าวไม่อ่อนข้อ แต่เมื่อใกล้เทศกาลเลือกตั้งท้องถิ่น ส่อแววแพ้ จึงส่งสัญญาณยอมถอย เพราะชาวซิกข์ที่ประท้วงยืดเยื้อ ส่วนใหญ่เป็นชาวนาในรัฐที่กำลังจะเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานรัฐบาลอินเดีย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศยกเลิกกฎหมายปฏิรูปเกษตรกรรม สร้างความยินดีให้กับทุกฝ่าย เนื่องจากกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผู้นำอินเดียยืนยันว่ากฎหมายนี้ส่งผลดีต่อเกษตรกรรายย่อย พร้อมแสดงท่าทีหนักแน่นไม่เปิดโอกาสให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเกษตรกรที่ออกมาคัดค้านกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ 

ร่างกฎหมายผ่านโลกสภาเมื่อ 10 มี.ค.63 และติดค้างอยู่ที่ราชสภา หรือสภาสูง ก่อนจะผ่านออกมาเป็นกฎหมายเมื่อเดือน ม.ค.2564 

กฎหมายทั้ง 3 ฉบับมุ่งเน้นผ่อนปรนกฎเกณฑ์เข้มงวดต่างๆ เรื่องการซื้อขาย การกำหนดราคา และการกักตุนผลิตผลทางการเกษตร โดยเดิมทีเกษตรกรอินเดียขายผลผลิตผ่านตลาดค้าส่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ซึ่งมีการรับประกันราคาขั้นต่ำให้กับเกษตรกร และมีกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นเครื่องช่วยคุ้มครองเกษตรกรอินเดียจากตลาดเสรีมานานหลายสิบปี

แต่พอบังคับใช้กฎหมายใหม่ ก็เกิดข้อเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การที่เกษตรกรจะสามารถขายผลิตผลในราคาท้องตลาดให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนได้โดยตรง ในขณะเดียวกันผู้ซื้อเอกชนก็สามารถกักตุนสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวสาลี และถั่ว เพื่อเก็บไว้ขายในอนาคต

แม้รัฐบาลอ้างว่ากฎหมายปฏิรูป จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายผลผลิตมากขึ้น แต่กลุ่มเกษตรกรกลับมองว่า กฎหมายนี้จะยิ่งทำให้เกษตรกรอ่อนแอ และเปิดทางให้ผู้ประกอบการเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศกลายเป็นผู้ควบคุมตลาดอย่างแยบยล เอกชนที่มีสินค้ากักตุนไว้ขายตามต้องการ จะสามารถกำหนดราคาสินค้า และเป็นฝ่ายควบคุมตลาดพืชผลการเกษตรในที่สุด

และในเมื่อรัฐสภามีอำนาจในการตรากฎหมาย แก้ไข และยกเลิก ขั้นตอนจากนี้รัฐบาลจะต้องยื่นขอยกเลิกกฎหมายในการประชุมสภาสมัยหน้าวันที่ 29 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะทำให้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้ในช่วงที่ผ่านมาเพียง 221 วันเท่านั้น

หลังประกาศยกเลิกกฎหมาย นายกฯ โมดีก็ได้ประกาศเลือกตั้งสภาท้องถิ่น 5 รัฐ ได้แก่ อุตตรประเทศ ปัญจาบ อุตรขัณฑ์ โกอา และหิมาจัลประเทศ ซึ่งจากโพลระบุว่าพรรคภารติยชนตะ (Bharatiya Janata Party) หรือพรรคบีเจพี ของนายโมดี มีคะแนนไม่ดีนัก

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การยกเลิกกฎหมายครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงกลยุทธ์และการเมือง ยอมถอยเพื่อหวังผลทางการเมือง นายกฯ โมดีกำลังมีแนวคิดในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามใจอ่อน หวังว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะช่วยกอบกู้ความศรัทธาจากเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรชาวซิกข์ เนื่องจากการเลือกตั้งระดับรัฐ กำลังจะมาถึงในรัฐปัญจาบ และรัฐอุตตรประเทศ ที่ต่างมีเกษตรกรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนั้น การยอมถอยจะช่วยสร้างแรงหนุนจากคนทั่วไปและกลุ่มชาวซิกข์

ด้านสมาชิกพรรคบีเจพี ของนายโมดี ระบุว่า การตัดสินใจยกเลิกกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เพื่อยุติการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อของเกษตรกร 

หลังจากที่นายกฯ ออกมาประกาศยกเลิกกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ บรรดาเกษตรกรในรัฐปัญจาบ และรัฐหรยาณา ต่างออกมาเฉลิมฉลองข่าวดี มีการชูธงแห่งชัยชนะ และแจกจ่ายขนมหวาน ทางสหภาพเกษตรกรออกมาระบุว่า นี่เป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของบรรดาเกษตรกร ซึ่งต้องออกมาประท้วงกันอย่างยาวนาน เกษตรกรส่วนใหญ่จากรัฐปัญจาบและหรยาณา ต้องละทิ้งไร่นาออกมาปักหลักประท้วงตั้งแคมป์ชานกรุงนิวเดลี ตั้งแต่ 26 พ.ย.ปีที่แล้ว ต้องเผชิญฝนฟ้าทุกฤดูกาล และฝ่าอันตรายจากโควิด-19 เกิดความรุนแรงระหว่างประท้วง 2 ครั้ง ครั้งแรกในกรุงนิวเดลี เมื่อเดือน ม.ค.2564  ทำให้มีชาวนาสังเวยชีวิตไป 1 ศพ และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชาวนาเสียชีวิตอีก 1 ศพ ระหว่างการประท้วงในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นจุดแตกหัก เพิ่มแรงกดดันหนักหน่วงให้กับกลุ่มผู้ประท้วงและรัฐบาล จนต้องตัดสินใจยอมถอยในที่สุด