มวลชน2ฝ่ายตีกันเละ! “รังสิมันต์” ซัดพท.พาดพิง “ทักษิณ”เย้ยอย่าหวังชนะแลนด์สไลด์! เจอสวนลต.ใหม่เลือกสุนัขดีกว่าโรม?

2474

มวลชน2ฝ่ายตีกันเละ! “รังสิมันต์” ซัดพท.พาดพิง “ทักษิณ”เย้ยอย่าหวังชนะแลนด์สไลด์! เจอสวนลต.ใหม่เลือกสุนัขดีกว่าโรม?

จากกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ รังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงจุดยืนพรรคก้าวไกลในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลเห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และไม่เห็นด้วยกับการการจำกัดไม่ให้แก้หมวด1และ2 และเสนอแก้ให้ใช้บัตร 2 ใบ แบบผสม

ในขณะที่ทางด้าน พรรคเพื่อไทย เตรียมยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 ร่าง ว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งแก้รัฐธรรมนูญแบบแก้ทั้งฉบับ คือยื่นให้มีการแก้ไขมาตรา 256 แบบปีที่แล้วโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 และแก้ไขเป็นรายมาตราเพื่อเพิ่มสิทธิ และเสรีภาพของปวงชนชาวไทย, เสนอแก้บัตรเลือกตั้ง เป็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามรัฐธรรมนูญปี 40 และการแก้มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตซ์ส.ว.

ต่อมาทางพรรคก้าวไกล ก็ได้มีมติไม่รับร่างของพรรคเพื่อไทย ที่จำกัดไม่ให้แก้ในหมวด 1 และหมวด 2 เราเห็นว่าสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ทำให้เกิดเสียงแตก

ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายทักษิณ ชินวัตร ได้จัดรายการ CARE ClubHouse x CARE Talk ในหัวข้อ “โทนี่ขอถามจริงๆ เมื่อไรจะหายวุ่น ทำไมทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยาก” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ถามคำถาม ช่วงหนึ่งมีผู้ร่วมตั้งคำถามถึงรัฐธรรมนูญปี 2540

ทักษิณได้อธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้น เกิดขึ้นเพราะไทยบริหารแบบมีพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะ และไปกดดันผู้นำ ต่อรอง ทำให้รัฐบาลอยู่สั้น เป็นปัญหาในอดีต นพ.ประเวศ วะสี จึงเสนอทางออกว่าต้องสร้างรัฐธรรมนูญที่คำนึงศักดิ์ศรีคนไทย และให้อำนาจผู้นำ สรุปออกมาเป็นร่างของประชาชนว่าคิดอย่างไร ทั้งเรื่องสวัสดิภาพ ศักดิ์ศรี

“ในเรื่องเลือกตั้งก็มีระบบเขต 400 เขต ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ไปถึงก็โหวต 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกคน อีกใบเลือกพรรค ก็เอาใบของคนมาตัดสินเขตนั้นเลย พรรคก็เอามาดู กกต. กลาง ว่าใครได้เท่าไร ข้อดี ประชาชนได้เลือกทั้งพรรคทั้งคน ประชาชนตัดสินได้เองว่าจะเลือกพรรคอะไร ส.ส. คนไหน ซึ่งผมไม่ค่อยมีปัญหา แบบปี 2540 ชัด ประชาชนชิน ถ้ากลับไปอีก อย่างที่ก้าวไกลบอกว่า 2 บัตรแบบเยอรมนีนั้น ผมไม่ชำนาญเลยไม่รู้ เพราะผมเองเป็นผลผลิตของปี 2540”

นอกจากนี้ยังได้แสดงความเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงขณะนี้ว่า วันนี้ตนเชื่อแบบโบราณ คิดว่ากำขี้ดีกว่ากำตด วันนี้การแก้ไขกฎหมายใดๆ ถ้ารัฐบาลจะเอาอย่างไรก็มักจะเป็นแบบนั้น เพราะเสียงเขามาก แต่ไหนๆ เขาบอกว่าแก้บางส่วน เราคิดว่าอะไรเป็นประโยชน์บางส่วนก็ใส่เข้าไปก่อน เผื่อฟลุกจะได้ แต่ต้องมีจุดยืนว่าต้องเป็นประชาธิปไตย แก้ทั้งฉบับ เพื่อไทยเขาสงวนหมวด 1-2 ก็ดี จะได้ไม่วุ่นวาย ส่วนแก้ทั้งฉบับให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.)  แก้

“รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แย่ที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา ถ้าให้ผมเลือกก็ชอบฉบับปี 2540 ดีที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา มีจุดที่ไปแก้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มาจากประชาชน และคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประชาชนจริงๆ” ทักษิณกล่าว

ทักษิณยังได้กล่าวถึงการเมืองและการเลือกตั้งในอนาคตว่า ถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไร ต้องเลือกผู้นำของตัวเองอย่างจริงจัง ถ้าเลือกกระจาย 250 ส.ว. ก็กดปุ่มปั๊ป สมมติว่า นาย ก. เหมาะมาก เทไปเลย เต็มที่เลย เป็นสัญญาณว่าประชาชนจะเอาแบบนี้ จะได้เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเป็นเบี้ยหัวแตกก็เปลี่ยนแปลงยาก

“อนาคตอยู่ที่ประชาชน ครั้งหน้าซื้อเสียงอย่างหนัก ช่วงนี้รายได้ดี ตอนนี้คิดจะซื้อ ส.ส. ฝ่ายค้านมา อยู่ไกลแต่ได้ข่าว การเมืองมันกลับมาเน่าเหมือนเดิม เหมือน 5-6 เสียง ขู่นายกฯ ได้ ตอนปี 2544 ขู่ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ตอนนี้เบี้ยหัวแตกเต็มไปหมด”

ต่อมานายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงความเห็นต่อกระแสการแก้รัฐธรรมนูญ และมีการพาดพิงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร โดยระบุข้อความว่า

” แลนด์สไลด์… ไปทางไหน? เพื่อใคร? เพื่อไทย? เพื่อประชารัฐ?

ถึงตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจุดมุ่งหมายของพรรคเพื่อไทยในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเฉพาะในเรื่องระบบการเลือกตั้งที่ยอมเล่นตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ รื้อกรอบจำนวน ส.ส. พึงมีออกไป แล้วไปเน้นหนักที่การเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน (เพิ่มจากเดิมขึ้นมา 50 คน) ก็คงเป็นอย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ คือเพื่อหวังให้เกิดการเทคะแนนไปที่พรรคใดพรรคหนึ่งอย่างเต็มที่ ด้วยข้ออ้างว่าหากเป็นเบี้ยหัวแตกแล้วจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยาก

พูดง่ายๆ คือหวัง “แลนด์สไลด์” แบบที่ตัวเองเคยได้ในอดีต โดยค่อยไปวัดพลังกับพรรคพลังประชารัฐเอาดาบหน้า

ในที่นี้ ผมคงไม่ลึกลงรายละเอียดถึงปัญหาเชิงหลักการของข้อเสนอระบบการเลือกตั้งดังกล่าว เพราะทั้งผมและพรรคก้าวไกลได้พูดไปพอสมควรแล้วก่อนหน้านี้ แค่ขอย้ำว่าระบบการเลือกตั้งดังกล่าวมีปัญหาแน่ๆ ในการทำให้สัดส่วนระหว่างจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองกับจำนวนประชากรที่เลือกพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่เหมาะสมกัน บางพรรคจะได้ ส.ส. เกินส่วนประชาชนที่เลือก ในขณะที่บางพรรคก็จะได้ ส.ส. ขาดส่วนประชาชนที่เลือกเช่นกัน แต่แค่อยากจะขอถามไปยังพรรคเพื่อไทย ว่า “แลนด์สไลด์” ที่คาดหวังนี้ จะไปในทิศทางไหนกันแน่?

อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วเช่นกันว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นเพียงอวัยวะหนึ่งของฝ่าย คสช. ที่เข้ามาชิงพื้นที่ในเวทีสภา คสช. ยังมีอวัยวะอื่นๆ อีกมากมายที่จะใช้ประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจตั้งแต่ในต้นทางคือควบคุมการเลือกตั้งไปจนถึงการรักษาสถานะของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น กกต. ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ ตลอดจนระบบราชการ ในวันนี้พรรคพลังประชารัฐเลือกที่จะแก้ระบบการเลือกตั้งเพื่อหวังขยายจำนวน ส.ส. ของตัวเองในอนาคตให้เกินกรอบจำนวน ส.ส. พึงมี ซึ่งมีปัญหาทั้งในเชิงหลักการอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น และทั้งยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาร้ายของพรรคพลังประชารัฐที่หวังใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจเท่านั้น การที่พรรคเพื่อไทยไปร่วมเห็นชอบกับระบบการเลือกตั้งดังกล่าวด้วยนั้น หากผลปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายที่ใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวได้ดีที่สุดและชนะเลือกตั้งไป จะยิ่งเป็นการเพิ่มความชอบธรรมแก่พรรคพลังประชารัฐเพราะถือว่าผ่านการเลือกตั้งในระบบที่พรรคใหญ่ของฝ่ายค้านเองก็ยังรับรอง (แม้จะมีปัญหาเชิงหลักการก็ตาม) และเมื่อประกอบกับกลไกอวัยวะอื่นๆ ของ ฝ่าย คสช. ที่ยังคงอยู่เพื่อคอยรักษาสถานะทางอำนาจไว้แล้ว การจะตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะยากยิ่งขึ้นไปอีก หากผลออกมาเป็นเช่นนี้แล้วพรรคเพื่อไทยจะรับผิดชอบอย่างไร?
นอกจากนี้ยังต้องถามพรรคเพื่อไทยอีกว่า “แลนด์สไลด์” นี้ เป็นไปเพื่อใคร?
เพราะเห็นได้ชัดเลยว่าที่พูดเรื่องการต้องให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ที่อ้างว่าต้องไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่มุ่งหวังให้คะแนนเทมายังพรรคเพื่อไทย ที่มีความพร้อมมากกว่าหลายๆ พรรคในการหาเสียงเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แล้วปล่อยให้พรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเวที ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่มีเพียง 100 คน หรือเพียง 20% ของทั้งสภากันไป เรียกได้ว่าพรรคเหล่านี้คือผู้ที่จะต้องจมอยู่ใต้แลนด์สไลด์ที่เกิดขึ้น
แต่แล้วการที่เป็นเช่นนี้มันเป็นประโยชน์กับประชาชนจริงหรือ? สิ่งที่ควรมุ่งสร้างให้เกิดขึ้นมากกว่า คือระบบที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดมีที่ยืนอยู่ร่วมกันได้ เข้มแข็งไปด้วยกันได้มิใช่หรือ? การที่ในสภามีทั้งพรรคที่มุ่งเน้นการเข้าถึงปัญหาของชาวบ้าน พรรคมุ่งเน้นการแก้ปัญหาโครงสร้าง พรรคที่มุ่งเน้นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน พรรคที่มุ่งเน้นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฯลฯ นี่คือสภาที่ควรเป็นมิใช่หรือ? ถ้าใช่แล้วทำไมพรรคเพื่อไทยจึงมีข้อเสนอไปในทางที่จะทำลายสิ่งเหล่านี้ลง?
และหากพรรคเพื่อไทยยังดึงดันในข้อเสนอนี้ แล้วผลปรากฏว่าชัยชนะกลายเป็นของพรรคพลังประชารัฐไป ถึงตอนนั้นแล้วจะยังมีพรรคไหนที่มีกำลังมากพอที่จะร่วมสู้ด้วยกันได้? จะยังมีพรรคไหนที่อยากจะสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพรรคเพื่อไทยอีก?
ผมและพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นมีปัญหาแน่ๆ การใช้บัตร 2 ใบดีกว่าแน่ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าหากไม่เอาระบบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้วจะต้องหันไปเอาระบบตามที่พรรคเพื่อไทย (และพรรคพลังประชารัฐ) เสนอมาเท่านั้น ยังมีระบบการเลือกตั้งอื่นที่สะท้อนเจตจำนง ซื่อตรงต่อเสียงของประชาชนได้มากยิ่งกว่า 2 ระบบนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกพรรคการเมืองในระยะยาวรวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย ผมหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะทบทวนการตัดสินใจของตัวเอง อย่าได้คล้อยตามสิ่งล่อใจเพียงชั่วครู่ชั่วคราวจนยอมรับในระบบที่ยังมีปัญหาเชิงหลักการแล้วเอาชะตากรรมของประชาชนไปแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนเลยครับ
หลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อความดังกล่าว ก็ทำให้มวลชนที่สนับสนุนพรรเพื่อไทย เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ในขณะเดียวกันทาง นายอิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม อดีตนักร้องและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง​แนวร่วมม็อบราษฎร ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า ผมก็จะเลือก #เพื่อไทย อีกนะ ยิ่งอ่านสเตตัสนี้ ยิ่งไม่เปลี่ยนใจ #แลนด์สไลด์ของจริง ไม่มโน.