สหรัฐระส่ำ!?เฟดยอมรับเงินเฟ้อกระฉูดยาว ดัชนีราคาฯพุ่ง 8.6% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

1358

นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์พากันหลอนหวั่นเศรษฐกิจสหรัฐพังพาล กังวลภาวะเงินเฟ้อของอเมริกาพุ่งกระฉูด พากันเทหุ้นดิ่งระนาว หวั่นเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดเพราะคุมเงินเฟ้อไม่อยู่แล้ว แม้เพิ่งรับข่าวดีว่ารัฐบาลไบเดน ได้งบฯผ่านสภาคองเกรส 1.1 ล้านล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม เพราะดัชนีวัดค่าผู้บริโภคและการผลิตเป็นตัวบ่งชี้เศรษฐกิจภาคการผลิตที่แท้จริง

ราคาขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภคของสหรัฐยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนต.ค. ส่งผลให้เกิดแรงกดดันเพิ่มเติมต่องบประมาณของครัวเรือน เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นสหรัฐฯ

เมื่อวันอังคารที่ 9 พ.ย.2564 สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ PPI เมื่อเดือนที่แล้วพุ่งขึ้น 8.6% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานพุ่งสูงขึ้นหากไม่รวมอาหาร พลังงาน และการค้า ดัชนีพุ่งขึ้น 6.2% เมื่อเทียบปีต่อปี

PPI เป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญของสหรัฐฯ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่ผู้ผลิตจ่ายสำหรับสินค้าและบริการมีแนวโน้มที่จะส่งต่อไปยังผู้บริโภค อย่างน้อยก็เท่าที่ตลาดจะรับได้ ราคาผู้บริโภคหรือ CPI เพิ่มขึ้นในอัตรา 5.4% ต่อปีในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี

ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้น 4.8% ต่อเดือน เพิ่มขึ้นแปดเท่าของอัตราของดัชนีโดยรวม 

หลังจากที่ค่า PPI เพิ่มขึ้นในอัตราน้อยกว่า 1% ในแต่ละปีในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2020 ก็เริ่มเร่งตัวขึ้น โดยดัชนีเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง จากนั้นเกือบสองเท่าในเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งเกิน 7% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมที่ผ่านมา

ปธน.ไบเดนและเจเน็ต เยลเล็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯพยายามวาดภาพวิกฤตเงินเฟ้อว่าเป็นปรากฏการณ์”ชั่วคราว”ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และในวันจันทร์ที่ผ่านมาสื่อหนุนเดโมแครต เอ็มเอสเอ็มบีซี (MSNBC) แย้งว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในปัจจุบันกำลังล้นหลามและเป็นจริงแต่”เป็นสิ่งที่ดี”เพราะสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่า สหรัฐกำลังย่างเข้าสู่แดนอันตรายของวิกฤตเศร๋ษฐกิจ เพราะงบประมาณที่เพิ่งได้อนุมัติ ก็จะมาจากการกู้เงินก้อนใหญ่มหาศาล แม้หนี้เก่ายังไม่อาจชำระคืนได้ อเมริกามีแต่ใช้เงินในอนาคตไปเรื่อยๆ ต่อให้สร้างภาพว่าเศรษฐกิจแกร่งผ่านการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นอย่างไร ก็ปิดไม่อยู่แล้ว

นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs เตือนเมื่อวันอาทิตย์ว่า“อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งเกินควบคุมจะเลวร้ายลงมากกว่าจะดีขึ้น” ตัวชี้วัดเงินเฟ้อจะยังคง”ค่อนข้างสูง”เป็นส่วนใหญ่ในปี 2565

โดนัลทรัมป์ จูเนียร์แซะรัฐบาลไบเดนทันทีในทวิตเตอร์ว่ามีสื่อช่วยกลบข่าวเงินเฟ้อให้เสียด้วย ครั้งแรกบอก “ไม่มีเงินเฟ้อหรอก” ต่อมาบอก “เงินเฟ้อแค่ชั่วคราว” แล้วก็บอกว่า “เงินเฟ้อไม่ใช่ความผิดของไบเดน” สุดท้ายวันนี้บอกว่า “เงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ดี” 

ด้านรายงานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าขณะนี้บรรดานักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกลายเป็นความกังวลหลักของนักลงทุนแทนที่ความกังวลจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากการสำรวจโดยเฟดพบว่าประมาณ 70% ของนักลงทุนในตลาดมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของเฟดเป็นความกังวลหลักในช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า แซงหน้าความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปราบปรามด้านกฎระเบียบที่อาจเกิดขึ้นจากจีน

ทั้งนี้ เฟดกำลังรับมือกับความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางการถกเถียงว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด ขณะที่เฟดเองก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน บ้างบอกสิ้นปีหน้า บ้างบอกจะปรับ 2 ครั้งในปีหน้า หากภาวะเงินเฟ้อยังคงดำเนินไปนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เฟดอาจต้องปรับลดและยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มขึ้นภายในไตรมาสแรกของปีหน้าเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อหากมีความจำเป็น นอกจากนี้ยังเพิ่งยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงไปตลอดทั้งปีถึงปี 2565 หลังจากโกลด์แมนแซคตีแสกหน้าไปแล้ว