ข่าวดีสำหรับส่งออกไทยคือ ข้อตกลง RCEP บังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 65 แน่นอน สินค้าไทยได้รับอานิสสงส์ ภาษีเหลือ 0% ทันทีกว่า 29,891 รายการ ทั้งผลไม้สด สินค้าประมง ยาง ยานยนต์ ฯ มั่นใจช่วยดันการส่งออกฟื้นเศรษฐกิจ
วันที่ 8 พ.ย.2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป:RCEP เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ล่าสุดประเทศสมาชิก RCEP ได้ให้สัตยาบันครบแล้วตามที่ความตกลงกำหนดไว้ ประกอบด้วย อาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ สมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบันแล้วความตกลงจะมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันคาดว่าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการและจะให้สัตยาบันได้ครบในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้กรมฯ เตรียมการรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากความตกลงฯ โดยกรมฯ ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งการประสานงานกับกรมศุลกากร เรื่องการออกประกาศอัตราภาษีศุลกากรที่ไทยจะเก็บกับสินค้านำเข้าจากสมาชิก RCEP เพื่อพร้อมใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565
ขณะเดียวกัน ได้เตรียมระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Monitoring System (TMS) เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมแผนรับมือหรือใช้มาตรการปกป้องทางการค้าได้ทันท่วงที นอกจากนี้ได้จัดการสัมมนาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก RCEP และจัดทำ E-Book ความตกลง RCEP ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษเผยแพร่ในช่องสารของกรมฯ
นางอรมนกล่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP คือ สมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทยจำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก โดยสินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น จึงขอให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อวางแผนการทำธุรกิจและการส่งออกล่วงหน้า
ทางด้านนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น อุตรดิตถ์ (ทุเรียน สับปะรด มังคุด) อุดรธานี (มะม่วง กล้วยหอม) ยะลา-เบตง (ทุเรียน มังคุด) เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2565 รวมถึงชี้แจงเรื่องกฎระเบียบทางการค้า พฤติกรรมของผู้บริโภค และช่องทางการจำหน่าย ทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ของไทย
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความตกลง RCEP ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าผลไม้สดอและผลไม้แปรรูปเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายรายการ เช่น เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าทุเรียนปีละ 4.5% จนเหลือ 0% ในปีที่ 10 (ปี 2574) หลังจากความตกลงใช้บังคับ รวมทั้งจะทยอยลดภาษีนำเข้า มังคุด ฝรั่ง มะละกอ อินทผลัม เปลือกส้ม เหลือ 0% ในปี 2574 ส่วนจีน ปัจจุบันยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้สดและแปรรูปส่วนใหญ่ให้ไทยแล้วภายใต้ FTA อาเซียน-จีน แต่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้แปรรูปเพิ่มเติมจนเหลือ 0% ในปีที่ 20 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ (ปี 2584) ขณะที่ญี่ปุ่น จะทยอยลดภาษีนำเข้าน้ำมะเขือเทศเหลือ 0% ในปีที่ 16 หลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ (ปี 2579) เป็นต้น
สำหรับผลไม้ เป็นสินค้าเกษตรสำคัญของไทย นำรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้ FTA ของไทยที่มีผลบังคับใช้แล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ปัจจุบัน 12 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไนฯ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีศุลกากรนำเข้าผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ที่ส่งออกจากไทยทุกชนิด ส่วนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไม่เก็บภาษีนำเข้ากับผลไม้ส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากไทย ยังคงเหลือเก็บแค่บางชนิด
ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้งไปทั่วโลก มูลค่ารวม 5,164.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52% โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA สัดส่วนสูงถึง 97% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด และส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP สัดส่วน 92% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด ซึ่งจีนถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้สำคัญของไทย มีมูลค่าส่งออก 3,824 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 89% คิดเป็นสัดส่วน 86% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด รองลงมาคือ ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยผลไม้ไทยที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ทุเรียน มะม่วง ลำไย เงาะ และมังคุด เป็นต้น