“ปิยบุตร” ดิ้นแรง เห็นต่าง “โทนี่” ปกป้อง แกนนำสามนิ้ว ประกาศกร้าวจุดยืน ต้องยกเลิกม.112!

1602

จากกรณีที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra ถึงกรณีมีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112 ระบุว่า ตัวบทกฎหมายเองไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม พร้อมกับแนะนำปรับกระบวน ให้สองฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน จนทำให้กองเชียร์พวกม็อบ 3 นิ้ว นำทัวร์ไปลงในโพสต์ดังกล่าว ของนายทักษิณเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศยืนยันเจตนารมณ์พร้อมนำข้อเสนอแก้ไข ป.อาญามาตรา 112 และ 116 เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา รวมทั้งทางส.ส.พรรคก้าวไกล ก็ต่างออกมาสนับสนุน และเรียกร้องให้อีกหลาย ๆ พรรคการเมืองร่วมหนุนแก้มาตรา 112 ด้วย

 


ล่าสุดทางด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หลังจบการจัดรายการพิเศษบน Clubhouse และช่องทางเพจเฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า ระบุว่า‘หมดเวลา 112 ถึงเวลาคืนอนาคตสังคมไทย’โดยนายปิยบุตร เห็นต่างกับนายทักษิณ บอกว่า ส่วนตัวแล้วตนยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องถูกยกเลิกไป เนื่องจากเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งในเรื่องของตัวบท การบังคับใช้ และอุดมการณ์เบื้องหลัง

ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบท การอยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก ประการถัดมา ในมาตรา 112 เขียนไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ประการต่อมา คือการไม่แยกฐานความผิดอย่างชัดเจน ระหว่างหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่เหมือนกัน แนวทางการใช้จึงปะปนกันไป นอกจากนี้ มาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการติชมโดยสุจริต หรือการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่วิจารณ์นั้นเป็นความจริง

และนายปิยบุตรอ้างว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่มักไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องไว้ก่อน นำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางการเมือง รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วย

เหตุผลที่ต้องมีการยกเลิกมาตรา 112 โดยระบุว่าในโลกสากลทุกวันนี้ ความผิดที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกเริ่มถูกถอดออกจากความผิดทางอาญาแล้ว เหลือเพียงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง หรือเป็นเพียงโทษปรับทางอาญาเท่านั้น “การเอาคนไปขังคุกไม่ควรเกิดจากเพียงการแสดงออก การพูด การเขียน เขาไม่ได้ฆ่าใครตาย เขาไม่ได้เอาเงินใครไป เขาไม่ได้ขโมยของใคร เขาไม่ได้ทำให้สังคมเดือดร้อน เต็มที่ไม่พอใจก็ไปเรียกค่าเสียหายเขา การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของคนไม่ควรจะนำไปสู่การเข้าคุก เรายืนยันใช่ไหมว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย? สาระสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก”

ทั้งนี้ยังขอให้ยกระดับการจัดการมาตรา 112 โดยระบุว่า ขณะนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 แนวทาง คือ

– การแก้ไขในตัวบท เช่น การแก้ไขให้ลดโทษ หรือแก้เพื่อเพิ่มเหตุยกเว้นความผิด เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ เป็นต้น

– กึ่งแก้กึ่งเลิก คือการไปเลิก 112 ทั้งมาตราก่อน แล้วจึงร่างกฎหมายฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่

– การยกเลิกไปเลยอย่างที่มีการรณรงค์อยู่ในขณะนี้

และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่กลุ่มราษฎรลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ได้รับการตอบรับทั้งในด้านสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าการผลักดันเรื่องที่ทั้งยากและใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้พลังของทุกส่วนในการเข้ามาผลักดันร่วมกันทั้งในและนอกสภา จริงอยู่แม้กฎหมายให้ใช้เพียง 15,000 ชื่อ ก็สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาได้แล้ว แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอ สิ่งที่ผู้รณรงค์ต้องการคือหลักแสนหรือหลักล้านเท่านั้น ที่จะพอมีแรงกดดันให้สภาต้องยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตร ได้ประกาศกร้าวด้วยว่า การเข้าชื่อเป็นล้านจะช่วยทำให้เสียงของมหาชนถูกทำให้เป็นทางการ ทำให้มีพลังขึ้นมา ไม่ใช่กระจัดกระจายอยู่บนท้องถนน การรณรงค์รอบนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งมีมากเท่าไรเรายิ่งมีโอกาสชนะ ยิ่งน้อยโอกาสสำเร็จก็มีน้อย พยายามทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากแตะต้อง 112 กลายเป็นคนส่วนน้อยของสังคมให้ได้ นี่คือการสร้างฉันทามติในสังคม