อึ้งกันไปในหมู่เพื่อนบ้าน ขณะที่‘จีน’สั่งแบน ‘เงินคริปโต’ ประกาศห้ามขุดเหมือง ตรากฎหมายเป็นการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย แต่กลายเป็นโอกาสสำหรับ ‘ลาว’ เร่งโปรโมท ประกาศเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ อนุญาตให้มีการขุดเหมืองคริปโตทุกชนิดได้ โดยแจงว่าเพื่อจะยกระดับการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าพลังน้ำของตนที่ผลิตได้มากกว่าใช้ในประเทศ และฉวยจังหวะดึงดุดนักขุดที่ถูกขับจากจีนสร้างรายได้เข้าประเทศ
หลังจากจีนดำเนินการปราบปราม คริปโตเคอร์เรนซีอย่างต่อเนื่อง ถึงตอนนี้ สปป.ลาวซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับกำลังอนุมัติให้เปิดดำเนินกิจการทำเหมืองขุดหาเหรียญบิตคอยน์ตลอดจน สกุลเงินดิลิทัลอื่นๆ โดยชูข้อได้เปรียบจากการมีกระแสไฟฟ้าพลังน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งผลิตได้จากแม่น้ำโขง พร้อมกันนั้นก็ไม่สนใจคำเตือนเรื่องที่ว่ามันจะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักหน่วง
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 สปป.ลาวประกาศชวนให้เซอร์ไพรซ์ จากสำนักนายกรัฐมนตรีของลาว ระบุว่า รัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินการสร้างเหมือง คริปโตเคอร์เรนซีสกุลดังๆ อย่าง บิตคอยน์ อีเธอเรียม ตลอดจนสกุลเงินตราดิจิตอลเข้ารหัสที่อิงอยู่กับเทคโนโลยีบล็อกเชนสกุลอื่นๆได้ จึงทำให้ลาวกลายเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตและเข้าร่วมในการทำเหมืองขุดเหรียญคริปโตอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างรายได้ทางเลือก ชดเชยความสูญเสียที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจาก โควิด-19ระบาดต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ จีนเคยอนุญาตให้พวกนักทำเหมืองคริปโตเข้าไปดำเนินงานอยู่หลายปี โดยข้อได้เปรียบที่กลายเป็นแรงจูงใจของแดนมังกรคือกระแสไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผลิตอยู่ในมณฑลห่างไกล เช่นมองโกเลียใน, ซินเจียง, เสฉวน, และยูนนาน ทว่าจีนได้สั่งปิดไม่ให้ทำเรื่องนี้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการบังคับระเบียบกฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ
ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานตรงกันว่า ธนาคารกลางจีน หรือ PBOC:People’s Bank of China ประกาศให้ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด เป็นสิ่งผิดกฎหมายและต้องถูกแบน ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าวที่สุดครั้งหนึ่งของรัฐบาลจีน ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการปราบปรามสกุลเงินดิจิทัลเคอร์เรนซีที่รัฐบาลไม่ได้หนุน ส่วนเงินดิจิทัลที่รัฐบาลสนับสนุนเรียกว่าCentral Bank Digital Currency เรียกย่อๆว่า CBDC คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะเป็นตัวแทนของเงินได้จริง ๆ
เงินหยวนดิจิทัลของจีนจึงเป็นประเภท CBDC นั่นเอง ซึ่งไม่เหมือนกับ Bitcoin Token หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ด้วยตัวของ Bitcoin เองนั้นไม่ได้ถูกควบคุมหรือดูแลจากรัฐบาลหรือธนาคารใดเหมือนเงินสดอย่างที่เราใช้กัน และการอ้างอิงมูลค่านั้นก็เกิดจากการคำนวนทางคณิตศาสตร์ ไม่อิงค่าทองคำ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าปั่นกันเนื้อๆนั่นเอง
แต่ในส่วนของหยวนดิจิทัลนั้นพูดโดยง่ายคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินหยวนแบบกระดาษมาเป็นในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งการอ้างอิงมูลค่าของเงินหยวนดิจิทัลนั้นก็จะเหมือนกันและถูกควบคุมดูแลโดยรัฐ สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินนี้มีเส้นทางการเงินอย่างไร ซึ่งทำให้สกุลเงินหยวนดิจิทัลนั้นมีความน่าเชื่อถือไม่เหมือนกันการใช้ Bitcoin นั่นเอง
นิตยสาร์ฟอร์บส์ รายงานเอาไว้ว่า “สหรัฐฯกำลังกลายเป็นประเทศทำเหมืองรายใหญ่ขึ้นแทนที่จีนไปแล้ว”
โดยที่เวลานี้ การทำเหมืองขุดหาเหรียญบิตคอยน์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ทั้งในรัฐเทกซัส, เซาทดาโคตา, เนแบรสกา, นอร์ทแคโรไลนา, โอไฮโอ, เพนซิลเวเนีย, และอื่นๆ อีกหลายรัฐ นอกจากนั้นพวกนักทำเหมืองนานาชาติยังได้โยกย้ายจากจีนไปที่ แคนาดา, คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, รัสเซีย, ตลอดจนที่อื่นๆอีกด้วย
ด้านสปป.ลาวนั้นมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำเป็นจำนวนถึง 73 โรง จนกระทั่งไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ นั่นคือมีมูลค่าเท่ากับ 30% ของยอดส่งออกโดยรวม และมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้าน
พวกนักลงทุนระดับท้องถิ่นซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาวให้ดำเนินการทดลองขุด ใช้ และซื้อขายเงินคริปโตภายในประเทศแล้ว ได้แก่ บริษัทวาบป์ ดาตา เทคโนโลยี ลาว จำกัด บริษัทพงซับทะวี ก่อสร้างขัวทาง จำกัด บริษัทสีสะเกด ก่อสร้างครบวงจร จำกัด บริษัทบุผา พัฒนาก่อสร้างเคหะสถาน ขัวทาง และสำรวจ ออกแบบ จำกัด ธนาคารร่วมพัฒนา และ บริษัทพูสี กรุ๊ป จำกัด ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อ Laotian Times
ทั้งนี้ธนาคาร ส.ป.ป.ลาว หรือแบงก์ชาติของลาว จะเป็นผู้จัดทำกฎระเบียบสำหรับควบคุมการใช้เงินคริปโตเคอร์เรนซีในระดับบริษัทฯ สำหรับพลเมืองลาวทั่วไปการซื้อหรือขายเงินคริปโตเคอร์เรนซี ในเวลานี้ยังกระทำไม่ได้ ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย