เปิดคดี “เบนจา” โดนแล้ว 19 คดี – ทำผิดซ้ำ ม.112 ถึง 6 คดี คุกยาว 30ปี??

2731

จากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564  พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 1  น.ส.เบนจา อะปัญ อายุ 22 ปี แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม คดีดูหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดอื่นเกี่ยวกับการชุมนุม ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น

โดยพนักงานสอบสวน ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ผู้ต้องหากับพวกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดกิจกรรมที่มีการปราศรัยหน้าอาคารชิโน-ไทย ทาวเวอร์ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา โจมตีการทำงานของรัฐบาลและดูหมิ่นสถาบันฯซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ

ศาลพิจารณาคำร้องและเหตุจำเป็นแล้ว อนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาญาติผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยชั่วคราวแต่ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงประกอบกับพฤติการณ์ได้ก่อเหตุเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงที่ผู้ต้องหาเคยถูกฟ้องที่ศาลนี้ไว้ ทั้งพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ในชั้นนี้จึงเห็นควรไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง ทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รับตัวน.ส.เบญจา ผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลได้อ่านคำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงาน สน.ทองหล่อยื่นคำร้องฝากขังน.ส.เบนจา โดยภายหลังนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.เบนจา ซึ่งให้เหตุผลว่า

“ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง การกระทำที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีลักษณะเป็นการกล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำอันมิบังควร ประกอบกับผู้ต้องหาเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีที่มีลักษณะข้อหาเดียวกันมาแล้ว โดยมีเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใดอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันฯ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

แต่ผู้ต้องหากลับไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นและน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ยกคำร้อง”

ขณะที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความย้อนคดี และคำพูดของเบนจา ไว้อย่างน่าสนใจและควรพิจารณา นำมาศึกษาเป็นบทเรียน กับเนื้อหาบางส่วนที่ระบุว่า ย้อนฟังเบนจา 1 ปี ก่อนถูกคุมขัง “ถ้าวันหนึ่งเขาจะเอาเราเข้าคุก เราก็คงต้องเข้าคุก”

เบนจา อะปัญ ในวัย 22 ปี เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์อินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผันตัวจากเยาวชนที่อยากเป็นนักบินอวกาศ สนใจในประเด็นเรื่องสิทธิและการเมืองตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สู่การเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวเมื่อเริ่มต้นก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

นับจากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เวลาเพียงหนึ่งปี เบนจา กลายเป็นถูกกล่าวหาในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองไปแล้วรวมถึง 19 คดี ในจำนวนนี้ เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 6 คดี

เธอเคยบอกเล่ากับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการถูกกล่าวหาในคดีทางการเมืองเป็นคดีแรกในชีวิต นั่นคือคดีการร่วมขึ้นอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จากการชุมนุมด้านหน้าของสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ทำให้ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และตามมาด้วยมาตรา 112 หลัง “นโยบาย” ของรัฐเปลี่ยนแปลงไป

ในช่วงเวลานั้น คือปลายปี 2563 หลังเริ่มถูกแจ้งข้อกล่าวหาคดีแรก เบนจาบอกว่า ทำใจไว้ส่วนหนึ่ง พร้อมยอมที่จะแลกอิสรภาพและความฝันเพื่อการต่อสู้ในครั้งนี้จนกว่าจะสุดปลายทาง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรงส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อครอบครัวอย่างไม่อาจเลี่ยงได้

“ตอนได้หมาย 112 ตำรวจเอาหมายไปให้เซ็นถึงที่บ้าน พ่อเราเสียแล้ว แม่ก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้านซักเท่าไหร่ เพราะต้องออกไปทำงาน คนที่อยู่บ้านรับหมายก็คือป้ากับยาย ซึ่งเขากลัวกันมาก เพราะเขาไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เขาเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาที่ทำงานในชุมชน แล้ววันหนึ่งญาติตัวเองต้องมาโดนหมายดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ

“112 ที่ผ่านมามันเคยน่ากลัวมาก มีกรณีที่ออกหมายจับเลย ไม่ได้เป็นหมายเรียกเหมือนตอนนี้ คือถ้าโดนคุณก็ต้องตัดสินใจเลยว่าจะลี้ภัยหรือจะทำยังไงกับชีวิตต่อไป แต่ด้วยความที่สถานการณ์ปัจจุบัน คนไม่ได้กลัวการใช้กฎหมายตัวนี้เท่าเมื่อก่อน การใช้มาตรา 112 ช่วงเดือนที่ผ่านมาแบบเพิ่มทีเป็นสิบยี่สิบคน กลายเป็นสิ่งที่ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์และความน่ากลัวในตัวของกฎหมายเอง แล้วถ้ามีคนต้องถูกขังคุกเพราะกฎหมายตัวนี้จริง เราเชื่อว่ามันจะกลายเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างความโกรธให้กับคนในสังคมมากขึ้นไปอีก”  เบนจา ระบุไว้ในเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน