จุดจบเฟซบุ๊กเริ่ม!?! CNN ปิดเฟซบุ๊กที่ออสเตรเลีย

1525

ประเด็นร้อนของเฟซบุ๊ก(Facebook) ในหลายวันนี้ทำโลกตื่นตะลึง ทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นภายในบริษัท คนในออกมาแฉ และเรื่องที่ระบบเฟซบุ๊กพร้อมเครือข่ายอินสตราแกรมล่ม 6 ชั่วโมงอึ้งกันไปทั้งโลก จากนั้นเฟซบุ๊กก็ออกมาให้เหตุผลว่าเป็นปัญหาระบบ ล่าสุด ปัญหาใหญ่ก็ถาโถมเข้ามาอีก โดยสื่อออนไลน์ขาใหญ่อย่างCNN เปิดศึกประกาศบล็อกเฟซบุ๊กตัวเองในออสเตรเลีย หลังศาลชี้สื่อต้องรับผิดชอบโพสต์หมิ่นประมาทของผู้ใช้  เพราะเฟซบุ๊กทำเฉยไม่ยอมปิดคอมเม้นท์หมิ่นประมาทตามคำร้องขอของซีเอ็นเอ็น

ก่อนหน้านี้เมื่อเฟซบุ๊กและเครือข่าย อินสตราแกรมล่มใช้ไม่ได้กว่า 6 ชั่วโมง พวกผู้ใช้ชาวออสเตรเลีย ที่พยายามหาทางเข้าถึงเพจเฟซบุ๊กของซีเอ็นเอ็น จะได้รับข้อความแจ้งว่าเนื้อหาดังกล่าวถูกจำกัดการเข้าถึง ทำให้มีการร้องเรียนกันอลหม่าน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากศาลสูงของออสเตรเลีย พิพากษายืนคำตัดสินก่อนหน้านี้ ที่ว่าบริษัทสื่อมวลชนทั้งหลายต้องเป็นผู้รับผิดชอบความคิดเห็นของผู้ใช้ซึ่งโพสต์อยู่ในรายงานข่าวของสื่อนั้นๆ  เปิดทางให้บรรดาสื่อมวลชนมีสิทธิถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายหมิ่นประมาทอันหนักหน่วงของประเทศ

ซีเอ็นเอ็นเปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 29 ก.ย.2564 ได้ร้องขอให้เฟซบุ๊กช่วยบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลาย ปิดกั้นความคิดเห็นบนแฟลตฟอร์มของพวกเขาในออสเตรเลีย แต่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เลือกที่จะไม่ดำเนินการตามที่ขอ

โฆษกของซีเอ็นเอ็นระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ว่า “เราผิดหวัง อีกครั้งที่เฟซบุ๊กไม่ยอมหาทางรับประกันว่าแฟลตฟอร์มของพวกเขาจะมีพื้นที่สำหรับสื่อสารมวลชนที่มีความน่าเชื่อถือ และมีบทสนทนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันกับบรรดาผู้ใช้เฟซบุ๊ก”

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กได้เปิดแถลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า บรรดาสื่อสารมวลชนทั้งหลายสามารถปิดความคิดเห็นสำหรับโพสต์ต่างๆ อย่างเจาะจงได้  แต่เฟซบุ๊กจะไม่ใช้รูปแบบปิดความคิดเห็นทั้งเพจตามคำร้องขอของทางซีเอ็นเอ็น

ปัญหาเรื่องความเสี่ยงถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเกิดจากคดีตัวอย่างของ ดีแลน วอลเลอร์ ชนพื้นเมือง อดีตผู้ต้องขังเยาวชนเป็นผู้เริ่มคดีนี้ เขาร้องต่อศาลว่าสื่อมวลชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ รวมถึงดิ ออสเตรเลีย และสกายนิวส์ และสื่อจากต่างประเทศต้องรับผิดชอบต่อความเห็นหมิ่นประมาท ของบรรดาผู้ใช้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเขาทำให้เกิดความเสียหาย บนเพจเฟซบุ๊กของสื่อมวลชนเหล่านั้น

บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายโต้แย้งว่า พวกเขาไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในความคิดเห็นที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเหล่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงออสเตรเลีย

ศาลระบุว่า บริษัทสื่อมวลชนทั้งหลายสามารถคัดกรองหรือบล็อกความคิดเห็นหมิ่นประมาทได้ถ้าต้องการ

กฎหมายหมิ่นประมาทของออสเตรเลียขึ้นชื่อด้านความซับซ้อนและเป็นหนึ่งในชาติที่มีกฎหมายหมิ่นประมาทเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีบทบาทควบคุมสื่อโซเชียลทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง

โฆษกของเฟซบุ๊กระบุว่า ทางบริษัทสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมาย และตั้งตาคอยให้ขอบเขตของเรื่องนี้มีความชัดเจนและแน่นอนยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กแถลงต่อสาธารณะชน หลักจากถูกเปิดโปงว่า เฟซบุ๊กเน้นหากำไร ไม่สนคุณธรรมและหากินบนเฮทสปีชทั้งหลาย

ความขัดแย้งยกใหม่ ระหว่างองค์กรสื่อสารมวลชนเช่น ซีเอ็นเอ็นกับเฟซบุ๊กแพลตฟอร์มที่กำลังครองโลกในเวลานี้มีแต่จะขยายวง

 

การที่ศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ตัดสินให้สื่อเป็นฝ่ายแพ้คดี ทำให้มีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุด (The High Court) แต่แล้วศาลสูงสุดยังคงยืนยันให้สื่อเป็นฝ่ายแพ้คดีเช่นเดิม! ทำให้ซีเอ็นเอ็นต้องปิดเฟซบุ๊กของตัวเองนำร่องแก่สื่อสำนักอื่นๆ

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในประเทศออสเตรเลียสำหรับประเด็นนี้ คือ หากเลือกที่จะลบหรือปิด คอมเม้นท์สุ่มเสี่ยง รวมถึงจำกัดความสามารถในการแสดงความเห็น สิ่งที่ตามมา ความจริงทำได้แต่มักจะทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ยูสเซอร์ และตามมาด้วยการมีส่วนร่วมในหน้าเพจ ก็จะค่อยๆ ลดลงตามลำดับจนส่งผลกระทบต่อ “รายได้” ในท้ายที่สุด และนี่เป็นเรื่องตอกย้ำว่า เฟซบุ๊กเลือก “กำไร” ไม่สนผลกระทบต่อส่วนร่วม อย่างแท้จริงนั่นเอง

ต้องติดตามกันต่อไปว่า แรงกระเพื่อมนี้จะขยายขอบเขตไปถึงระดับไหน เมื่อสว.สหรัฐปลุกกระแส “ยุบเลิกบิกเทค โดยพุ่งเป้ามาที่เฟซบุ๊กแล้ว” ศึกสื่อออนไลน์ขาใหญ่ ซีเอ็นเอ็นทุบซ้ำอีก แม้เฟซบุ๊กจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ไม่อาจประมาท  ปรากฎการณ์เงินหายไป 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตอนระบบล่มไป 6 ชั่วโมง ราคาหุ้นหัวปัก นี่เพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น!!