สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อ 29 ก.ย.2564 ว่า ในการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) รอบที่สองในวันเดียวกัน นายฟูมิโอะ คิชิดะ อดีต รมต.กต.ญี่ปุ่นในรัฐบาล นรม.อาเบะ ชินโซ ได้รับคะแนนเสียงชนะนายทาโร โคโนะ อดีต รมต.กำกับดูแลโครงการฉีดวัคซีน COVID-19 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายสึกะโยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 257 ต่อ 170 คะแนน ส่งผลให้นายคิชิดะจะเป็นว่าที่ นรม.ญี่ปุ่นคนใหม่ที่จะมีการลงคะแนนโดยสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นใน 4 ต.ค.64
พรรค LDP และพันธมิตรครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา ภายหลังได้รับชัยชนะ นายคิชิดะ เปิดเผยว่า จะให้ความสำคัญกับปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อนาคตของญี่ปุ่น และการดำเนินนโยบายส่งเสริมเสรีภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อยับยั้งการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน
ด้วยบุคลิกที่นุ่มนวลและไม่ทำตัวเป็นที่สนใจมากนักทำให้ คิชิดะ ถูกมองว่าไม่ค่อยมีเสน่ห์ความเป็นผู้นำ หรือ ‘charisma’ สักเท่าไหร่ ขณะที่แนวคิดทางการเมืองของเขาก็เน้น “ความต่อเนื่อง” มากกว่าเสนอการเปลี่ยนแปลง แต่ท้ายที่สุดแล้ว คิชิดะ ก็ได้รับการสนับสนุนจากแกนนำอาวุโสของพรรคแอลดีพี ซึ่งมองว่าเขาเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยและมั่นคงกว่า โคโนะ ซึ่งเป็นคนโผงผางและชูนโยบายปฏิรูป
โครี วอลเลซ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคานากาวะ ซึ่งเชี่ยวชาญการเมืองญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า“คิชิดะ ทำผลงานได้ดีกว่าที่หลายคนคาดคิด” “ที่ผ่านมาเขาพยายามเป็นทุกสิ่งทุกอย่างให้คนทุกกลุ่ม แต่เมื่อเทียบกับการชิงหัวหน้าพรรคครั้งที่ผ่านๆ มา ครั้งนี้เขาดูจะมีของมากขึ้น”
ทั้งนี้ เป็นที่คาดกันว่า คิชิดะ คงจะเข้ามาสานต่อนโยบายหลักของรัฐบาล สึกะ ให้มีความต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับจุดยืนในด้านกลาโหม ต่างประเทศ หรือเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองหัวเสรี แต่ คิชิดะ ยังคงสงวนท่าทีมากกว่า โคโนะ ในประเด็นซึ่งเป็นข้อถกเถียงในสังคม เช่น การออกกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน หรือการอนุญาตให้คู่สมรสใช้คนละนามสกุล เป็นต้น
ว่าที่ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่ยังต้องเตรียมรับศึกหนักหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากพิษโควิด-19 รวมไปถึงการเผชิญหน้าภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือ
ท่าทีของคิชิดะนั้น เขาให้คำมั่นว่าจะใช้เงินก้อนใหญ่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่ซบเซาจากโรคระบาด พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ และปรับแนวทางเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ซึ่งครอบงำการเมืองญี่ปุ่นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สมาชิกเทคะแนนให้
เปิดนโยบายว่าที่นายกฯ คนใหม่
ด้านเศรษฐกิจ: คิชิดะเคยกล่าวไว้ว่าหากเขาจะเป็นผู้นำ การควบรวมทางการคลังจะเป็นเสาหลักของนโยบาย นอกจากนี้ เขายังแสดงความสงสัยเกี่ยวกับนโยบายที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น(BOJ)โดยกล่าวว่าในปี 2018 มาตรการกระตุ้นไม่สามารถคงอยู่ตลอดไป แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ คิชิดะจึงกลับคำโดยกล่าวว่า ต้องคงมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ไว้
เขาเสนอแพ็คเกจการใช้จ่ายมากกว่า 30 ล้านล้านเยน และเสริมว่าญี่ปุ่นไม่น่าจะขึ้นอัตราภาษีการขายจาก 10%
“การปฏิรูปการคลังเป็นแนวทางที่เราต้องดำเนินการในท้ายที่สุด แม้ว่าเราจะไม่พยายามเติมเต็มการขาดดุลของญี่ปุ่นด้วยการขึ้นภาษีทันที” เขาเน้นถึงความจำเป็นในการกระจายความมั่งคั่งให้กับครอบครัวมากขึ้น ตรงกันข้ามกับการมุ่งเน้นนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ในการเพิ่มผลกำไรของบริษัทก่อนโดยหวังว่าผลประโยชน์จะตกไปถึงประชาชนทั่วไปในที่สุด
ด้านการทูตและความมั่นคง: คิชิดะเชื่อว่าญี่ปุ่น โดยความร่วมมือกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ควรจะยืนหยัดต่อต้านการผงาดของจีน
“เพื่อปกป้องค่านิยมสากล เช่น เสรีภาพ ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน เราต้องพูดให้แน่ชัดว่าต้องพูดอะไรเมื่อเผชิญกับการขยายตัวของระบอบเผด็จการอย่างจีน ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับประเทศที่ยึดถือค่านิยมดังกล่าว
ด้านการแก้ปัญหาโควิดระบาด: เขาเห็นว่าการพัฒนายาและการฉีดวัคซีนในวงกว้างเป็นกุญแจสำคัญในการกลับสู่ชีวิตปกติ คิชิดะกล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ว่า
“ตอนนี้มีความพยายามพัฒนายารับประทานและจำหน่ายให้แพร่หลายภายในสิ้นปีนี้ และรัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มน้ำหนักให้กับความพยายามเหล่านั้น” “ผมต้องการให้เราก้าวไปข้างหน้าและบรรลุเป้าหมายในการนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของเรากลับสู่สภาวะปกติในช่วงต้นปีหน้า”