ส่องธนาคารทั่วโลก รับมือวิกฤติโควิด-19 สอดคล้องกัน งดจ่ายเงินปันผลและห้ามซื้อหุ้นคืนเหมือนไทย

2902

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.สั่งธนาคารพาณิชย์ไทยงดจ่ายเงินปันผล และหยุดซื้อหุ้นคืน แจงเพื่อรักษาเงินกองทุนให้แข๋งแกร่ง รับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 และย้ำว่า การดำเนินการเช่นนี้ ธนาคารทั่วโลกต่างดำเนินการสอดคล้องกัน ทั้งประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป แคนาดา และอินเดีย เป็นต้น

หลายประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็มีแนวนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลเช่นกัน รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาสนับสนุนให้ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกมีนโยบายระงับการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ด้วย

ประเทศอังกฤษ-ของดจ่ายปันผลทุกประเภท-งดโบนัสผู้บริหาร
ในอังกฤษ นายแซม วูดส์ รองผู้ว่าการ ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) สายงานกำกับดูแล ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Prudential Regulation Authority ได้เขียนจดหมายถึง 7 ธนาคารและสถาบันการเงินใหญ่ คือ เอชเอสบีซี (HSBC), เนชันไวด์ (Nationwide Building Society), บังโค ซานตานเดร์ (Banco Santander SA), สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered), บาร์เคลส์ (Barclays), อาร์บีเอส (Royal Bank of Scotland: RBS) และกลุ่มลอยส์แบงกิง (Lloyds Banking Group) ลงวันที่ 31 มีนาคม 2020

โดยทั้งหมดมีข้อความในลักษณะเดียวกัน คือ ขอให้พิจารณาระงับการจ่ายเงินปันผล ระงับการซื้อหุ้นคืน ไปจนถึงสิ้นปี 2020 รวมทั้งขอให้ยกเลิกการจ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานของปี 2019 ที่ยังค้างจ่าย และขอให้ระงับการจ่ายโบนัสในรูปเงินสดให้กับคณะผู้บริหารระดับสูงและผู้ที่แบกรับความเสี่ยง อันเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ผลปรากฏว่า ทั้ง 7 ธนาคารได้ประกาศงดจ่ายเงินปันผล และระงับการซื้อหุ้นคืนไปจนถึงสิ้นปี 2020 ตามที่ PRA ร้องขอ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีเงินกองทุนเพิ่มรวม 8 พันล้านปอนด์ และได้ขอให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจ เพราะในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ การไม่จ่ายเงินปันผลจะช่วยให้ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือดูแลลูกค้าธุรกิจ ลูกค้ารายย่อย และชุมชนได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ธนาคารรักษาเงินกองทุนและมีการลงทุนที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจในระยะยาวได้

ECB ขอให้ชะลอถึงตุลาคม
ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้ออกคำแนะนำ เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2020 โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ระงับการจ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืน เพื่อเพิ่มความสามารถของธนาคารพาณิชย์ในการรองรับความเสียหาย การสนับสนุนสินเชื่อแก่ครัวเรือน ธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจขนาดใหญ่ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2020 เป็นอย่างน้อย และควรระงับการซื้อหุ้นคืน
อย่างไรก็ตาม คำขอนี้ไม่มีผลย้อนหลังกับเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2019 ที่บางธนาคารได้จ่ายออกไปแล้ว แต่สำหรับธนาคารที่จะต้องขอให้ที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นอนุมัตินั้น ขอให้แก้ไขวาระการประชุมในเรื่องนี้
ธนาคารพาณิชย์หลายรายในสหภาพยุโรปได้ตัดสินใจดำเนินการตามข้อแนะนำของธนาคารกลางยุโรป (The European Central Bank: ECB) โดยในอิตาลีซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายในยุโรป ธนาคารยูนิเครดิตเป็นธนาคารอิตาเลียนรายแรกที่ได้ระงับแผนการจ่ายเงินปันผลสำหรับการดำเนินงานปี 2019 รวมทั้งระงับแผนซื้อหุ้นคืน
ธนาคารเอบีเอ็นแอมโรในเนเธอร์แลนด์ ประกาศระงับแผนการจ่ายเงินปันผลเช่นกัน ตามมาด้วยธนาคารไอเอ็นจี และธนาคารราโบ ส่วนในเบลเยียม ธนาคารเคบีซีประกาศงดจ่ายปันผล ในเยอรมนีธนาคารที่ระงับการจ่ายเงินปันผลคือ คอมเมิร์ซแบงก์ ซึ่งไม่จ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2019

ประเทศแคนาดา-ลดเงินกองทุน, ห้ามเพิ่มเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืน
สำนักงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศแคนาดา หรือ The Office of the Superintendent of Financial Institutions (OSFI) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ลงวันที่ 17 เมษายน 2020 เพื่อให้ภาพรวมของระบบการดูแลเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ คำถามที่เกิดขึ้นทั่วโลกถึงแนวทางที่ดีที่สุดในการดำรงเงินกองทุน และผลที่เกิดขึ้นกับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ หลังจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
OSFI ระะบุว่า โดยปกติแคนาดาได้กำหนดมาตรฐานเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไว้สูงตามมาตรฐานสากลและ Basel III อยู่แล้ว โดยกำหนดให้ธนาคารดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมรองรับกรณีฉุกเฉินหรือในยามที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือบัฟเฟอร์ (buffer) ทั้งในส่วนที่ต้องดำรงไว้เสมอ (capital conservation buffer) และส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจ (countercyclical buffer) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้นต้องมี countercyclical buffer สูงกว่าประเทศอื่นๆ และยังต้องดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ domestic stability buffer อีกด้วย

ภายใต้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ OSFI ได้ลดอัตราการดำรงเงินกองทุนลงให้เป็นไปตามมาตรการรับมือฉุกเฉิน เพื่อให้ธนาคารนำเงินกองทุนไปใช้ได้ โดยวันที่ 13 มีนาคม 2020 ได้ลดอัตราการดำรงเงินกองทุนลง 1.25% หรือราว 55% ของ domestic stability buffer และยังได้ห้ามการเพิ่มเงินปันผล รวมถึงการซื้อหุ้นคืน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนรับมือฉุกเฉินที่ได้จัดทำขึ้นมาก่อนหน้านี้ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อธนาคารพาณิชย์มีการใช้เงินกองทุนที่ดำรงไว้ ก็จะต้องมีปฏิบัติตามข้อจำกัดการใช้เงิน ตัวอย่างเช่น หากธนาคารพาณิชย์ต้องใช้เงินจาก capital conservation buffer ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องดำเนินการตามจำกัดการใช้เงิน ซึ่งครอบคลุมการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืน และข้อจำกัดนี้ใช้บังคับกับธนาคารใหญ่เป็นรายแรกๆ เมื่อเงินกองทุนลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้สำหรับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ (domestic systemically important banks: D-SIBs)

ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์แคนาดามีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ โดยให้อัตราผลตอบแทนที่ 5.7% ส่วนธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 4.2% ขณะที่อัตราผลตอบแทนเงินปันผลธนาคารพาณิชย์ในยุโรปอยู่ที่ 1.7%

ประเทศออสเตรเลีย-ให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้แต่ปรับลดลง
วันที่ 21 เมษายน 2020 ดร.ฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia) เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ โดยระบุว่า ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง และการจ่ายเงินปันผลมีความสำคัญต่อรายได้ของนักลงทุน แต่คาดว่าการจ่ายเงินปันผลของธนาคารจะมีการปรับลดลง

ก่อนหน้านี้วันที่ 7 เมษายน 2020 หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Australian Prudential Regulation Authority: APRA) ได้ส่งจดหมายถึงคณะกรรมการของสถาบันการเงิน ให้พิจารณาอย่างจริงจังที่จะเลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลไปจนกว่าสถานการณ์จะชัดเจนขึ้น แต่หากหลังการทดสอบ stress test และคณะกรรมการได้กำหนดเงินปันผลไปแล้วก่อนที่จะหารือกับ APRA ก็ควรที่จะลดจำนวนเงินลง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ในออสเตรเลียได้ปรับลดเงินปันผลลง โดยธนาคารเวสต์แพกแบงกิง คอร์ป ธนาคารใหญ่อันดับสองเมื่อวัดจากมูลค่าตลาด ได้เลื่อนการจ่ายเงินปันผลไตรมาสแรกออก คิดเป็นเงิน 3.39 พันล้านออสเตรเลียดอลลาร์ หรือเทียบเท่าเกือบ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน กล่าวคือกลุ่มการธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้เลื่อนการจ่ายเงินปันผลออกไปเช่นกัน คิดเป็นเงิน 2.26 พันล้านออสเตรเลียดอลลาร์ ขณะที่เนชันแนลออสเตรเลียแบงก์ลดเงินปันผลลง 75% มาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ และประหยัดเงินได้ 1.58 พันล้านออสเตรเลียดอลลาร์
ออสเตรเลียจึงเป็นประเทศที่มีการตัดเงินปันผลลงมากที่สุดในโลกในปีนี้ ทั้งการเลื่อนและการยกเลิกจากบริษัทเพื่อถือเงินสดรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ประเทศนิวซีแลนด์-ปรับเงื่อนไขหยุดจ่ายตั้งแต่เดือน มี.ค.
ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (Reserve Bank of New Zealand) โดยนายเจฟฟ์ บาสกันด์ รองผู้ว่าการ ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 26 มีนาคม 2020 ถึงซีอีโอของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศทุกราย เพื่อแจ้งรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจดทะเบียน  โดยได้ปรับเงื่อนไขที่ใช้บังคับเมื่ออัตราการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มลดต่ำกว่าระดับ 2.5% ซึ่งเดิมทีนั้นเมื่อเงินกองทุนลดลงต่ำกว่า 2.5% ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดทำแผนเพิ่มทุนและจำกัดการจ่ายเงินปันผล แต่เงื่อนไขใหม่ให้หยุดจ่ายเงินปันผล อีกทั้งยังห้ามไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุน เงื่อนไขใหม่นี้มีผลบังคับใช้ทันที
ทั้งนี้ได้ลดอัตราเงินสำรองขั้นต่ำ (minimum requirement) จาก 75% เป็น 50% เพื่อให้ธนาคารมีเงินกองทุนมากพอภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือดูแลและให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องได้ เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการระบาดของไวรัสจะหยุดเมื่อไร

ประเทศอินเดีย-สั่งงดจ่ายปันผลและจะทบทวนอีกในเดือน ก.ย.
ในเอเชีย ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India) ได้มีหนังสือเวียนขอให้ธนาคารพาณิชย์”งดจ่ายเงินปันผล” สำหรับผลการดำเนินงานรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2020 เพราะความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 ที่สูงขึ้น การรักษาเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์จึงมีความสำคัญเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและรองรับความเสียหาย ธนาคารกลางจะพิจารณาทบทวนคำสั่งเมื่อได้เห็นรายงานผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ประจำไตรมาสงวดสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2020
……………………………………………..