รฟม. เผยสาเหตุบอร์ดมาตรา 36 ค้านเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอบใหม่ เหตุคดีในศาลยังไม่จบ หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอย หาข้อยุติไม่ลง หลัง”บีทีเอส”ยื่นจดหมายเปิดผนึก ค้านรฟม.ประมูลสายสีส้มรอบใหม่ หากยึดเกณฑ์เทคนิคควบราคาพร้อมยืนยันว่าคดียังไม่สิ้นสุด หลังส่งหนังสือยื่น 7 หน่วยงานรัฐ ย้ำเกณฑ์เดิมถูกต้อง
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทสไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท นั้น พบว่าการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตารา 36 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่เห็นด้วยที่จะเดินหน้าจัดประมูลไปตามหลักเกณฑ์ที่ฝ่ายบริหารรฟม.เสนอ และเห็นว่าควรรอความชัดเจนของคดีความที่รฟม.ถูกฟ้อง รวมทั้งคดีล่าสุดในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่กำลังพิจารณาอยู่ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาอีก
สำหรับสาเหตุที่คณะกรรมการคัดเลือกเสียงส่วนใหญ่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่จะเดินหน้าจัดประมูลใหม่ในเวลานี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ฝ่ายบริหาร บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส(BTS) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังผู้แทน 7 หน่วยงานรัฐที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก่ กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณ, เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก, ผู้แทนกระทรวงคมนาคม,ผู้แทนสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, ผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด ,ประธานคณะกรรมการคัดเลือก และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือก
โดยเนื้อหาที่ส่งไปนั้น ได้สะท้อนปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ก่อนหน้านี้ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และดำเนินการขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนผู้ชนะการคัดเลือกที่รัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับเงินสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด
“หากคณะกรรมการคัดเลือกฯยังคงนำหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโดยใช้คะแนนด้านเทคนิคประกอบด้านราคา ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ครม.กำหนดไว้ บริษัทคงต้องใช้สิทธิ์โต้แย้งและคัดค้าน เพราะคดีความต่างๆ ที่บริษัทได้ยื่นฟ้องฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง และคดียังไม่สิ้นสุด เมื่อมีหนังสือเปิดผนึกแบบนี้เข้าไป ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกจึงไม่อยากเอาอนาคตหน้าที่การงานของตนเข้าไปเสี่ยงด้วย ขณะที่กรรมการผู้แทนบางหน่วยงานได้แสดงท่าทีชัดเจนไม่เอาด้วยกับเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่รฟม.เสนอ จึงทำให้ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้รับเหมาในโครงการนี้ได้”
ขณะเดียวกันถ้า รฟม.เดินหน้าจัดประมูลไปตามเงื่อนไขทีโออาร์ TOR เดิม ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.โดยจะพิจารณาเปิดซองข้อเสนอด้านราคา จากบริษัทเอกชนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคก็สามารถจะทำได้ โดยการปรับเพิ่มเกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิคจากเดิมที่กำหนดไว้ต้องผ่าน 70 % เป็น 85% ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิคที่เข้มข้นสูงสุดอยู่แล้ว และยังสอดคล้องกับสิ่งที่ รฟม.ต้องการคือ ได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพแอละความเชี่ยวชาญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คาดว่า จะได้ข้อยุติรูปแบบประมูลภายในเดือน พ.ย.64 นี้และเปิดประมูลต้นปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าหุ้นรับเหมายักษ์อย่าง BEM-CK น่าจะได้เปรียบ เพราะมีทั้งรับเหมายักษ์ และผู้ให้บริการเดินรถอยู่ในมือครบวงจร
ทั้งนี้สิ่งที่หลายฝ่ายมองข้ามก็คือ 2 ผู้รับเหมายักษ์ใหญ่ข้างต้นที่เคยจับมือร่วมประมูลงานเมกะโปรเจกต์รัฐมาหลายโครงการทั้งรถไฟฟ้า สายสีเหลืองและสีชมพู ของ รฟม.เอง และโครงการมอเตอร์เวย์สายบางประอิน-โคราช และบางใหญ่ -กาญจนบุรี วงเงินกว่า 60,000 ล้านแต่ก็วืดไปหมด ส่วนโครงการที่คาดว่าจะได้แบบนอนมา อย่างรถไฟฟ้า สายสีส้ม และสายสีม่วงใต้ ก็ยังคาราคาซังปิดดีลไม่ลงในปัจจุบัน
หากท้ายที่สุดภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยังไม่เห็นชอบกับเกณฑ์ประมูลคัดเลือกตามที่ รฟม.นำเสนอนั้น กลับมีกระแสข่าวว่า มีแนวโน้มที่กระทรวงคมนาคม และ รฟม.อาจจะมีการปรับเปลี่ยนกรรมการคัดเลือกใหม่อีกครั้ง เพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป จริงหรือไม่ต้องจับตากันต่อไป
ผลสะเทือนครั้งนี้มาจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของบีทีเอสซึ่งยืนหยัดสู้ไม่ถอย
บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือไปยัง 7 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ถึงการการดำเนินการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)นั้น ทางบริษัทฯ ขอโต้แย้งและคัดค้าน หากคณะกรรมการคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือก ด้วยการใช้คะแนนจากซองเทคนิคมาพิจารณาร่วมกับซองราคา
เนื่องจากคดีที่ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา36 รวมถึงเจ้าพนักงานที่ดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 7 คน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองและยังไม่สิ้นสุด และศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่ามิให้ใช้บังคับ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายมาตราใดกำหนดให้ดำเนินการดังเช่นว่านั้นไว้ บริษัทฯจึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการดำเนินการโครงการนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีความโปร่งใสและนำไปสู่การแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ทำให้รัฐและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป
ขณะเดียวกันโดยปกติหลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนให้ได้ผู้ชนะการคัดเลือกที่ถูกต้องนั้น รัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับเงินสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ที่ผ่านมา บริษัทจึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง 7 หน่วยงานรัฐว่า กระบวนการประกวดราคาของโครงการต้องเป็นเป็นตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ วันที่ 28 มกราคม 2563 และกระบวนการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้ดำเนินการประมูลเดิม (เกณฑ์ประมูลที่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอได้คะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 70% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป และใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และนำมาสู่การเสนอร่างประกาศเชิญชวน ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ