หลังจากเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่มีการประชุมส.ส.พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) นัดส่งท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภา ที่ห้องพรรคพลังประชารัฐ ชั้น 6 อาคารรัฐสภา
โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค เดินทางมาเป็นประธานการประชุมด้วยตัวเอง และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค มาร่วมประชุมด้วยเป็นครั้งแรก หลังจากถูกปลดออกจากรัฐมนตรี ขณะที่แกนนำพรรคคนอื่น ๆ โดยเฉพาะแกนนำที่เป็นรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
โดยในช่วงหนึ่งของการประชุม ได้มีการพูดถึงกระแสข่าวความขัดแย้งและการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเลขาธิการพรรค โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวถึง ร.อ.ธรรมนัส ที่นั่งอยู่ด้านข้าง ๆ ตัวเอง ให้ ส.ส.ฟังว่า เป็นคนที่เสียสละมาตลอด ควรจะอยู่ด้วยกันต่อ พร้อมกับถาม ร.อ.ธรรมนัสว่า จะอยู่ต่อ หรือจะเอาอย่างไร
ทำให้ร.อ.ธรรมนัส ได้กล่าวยืนยันในที่ประชุมว่า ตอนแรกผมจะไม่อยู่ ใจอยากกลับไปอยู่ที่บ้านทำธุรกิจ เป็นราษฎรธรรมดา มากกว่าทำการเมือง ซึ่งท่านประวิตรขอให้อยู่ช่วยกันทำงาน ถ้านายรัก อนุญาตให้ทำงานต่อ ก็จะไม่ออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถ้าท่านประวิตรอยู่ผมก็ยินดีที่จะอยู่ต่อ ผมเกิดจากพรรคนี้ก็พร้อมจะอยู่ตรงนี้ ถ้าจะจบชีวิตการเมืองก็ขอให้จบที่พรรคพลังประชารัฐ ยึดที่นี่เป็นที่พึ่งพิง ขอให้พลังประชารัฐเป็นบ้านสุดท้ายของผม
ล่าสุดศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “นายกรัฐมนตรีกระชับอำนาจ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 16 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการกระชับอำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการให้รัฐมนตรีสองคนออกจากตำแหน่ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.99 ระบุว่า เป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว
รองลงมา ร้อยละ 23.54 ระบุว่า พี่-น้อง 3 ป. แค่เล่นเกมการเมือง แต่จะไม่มีการแตกออกจากกัน , ร้อยละ 17.16 ระบุว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม , ร้อยละ 16.70 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจะแตกแยกมากขึ้น , ร้อยละ 11.92 ระบุว่า นายก ฯ จะได้คะแนนนิยมทางการเมืองน้อยลง , ร้อยละ 7.67 ระบุว่า นายก ฯ และรัฐบาลจะมีความมั่นคงน้อยลง
ร้อยละ 4.10 ระบุว่า พี่-น้อง 3 ป. กำลังจะแตกออกจากกัน , ร้อยละ 3.57 ระบุว่า นายก ฯ และรัฐบาลจะมีความมั่นคงมากขึ้น , ร้อยละ 3.11 ระบุว่า นายก ฯ จะได้คะแนนนิยมทางการเมืองมากขึ้น , ร้อยละ 1.52 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจะเป็นปึกแผ่นมากขึ้น และร้อยละ 17.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ขณะด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.11 ระบุว่า ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพรรคพลังประชารัฐเลย รองลงมา ร้อยละ 21.56 ระบุว่า ไม่ต้องเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องคุมพรรค ฯ ได้ ร้อยละ 16.33 ระบุว่า ควรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และร้อยละ 6.00 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่มีการปลดอดีต 2 รัฐมนตรี ค่อนข้างมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์แรงถึงพลเอกประยุทธ์ แต่ในอีกมุมก็มีเสียงชื่นชมที่ทำถูกต้อง ว่าสมควรที่จะต้องปลดออก โดยผลโพลยิ่งตอกย้ำอีกว่านายกฯ ได้ตัดสินใจถูกแล้ว และจะเรียกคะแนนทางการเมืองกลับมาได้มากขึ้นด้วย ส่วนความสัมพันธ์กับพลเอกประวิตร ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมนั้น ต้องจับตาท่าทีการเคลื่อนไหวในพรรคต่อไป ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายในอนาคตหรือไม่