EEC อู้ฟู่!?!ลงทุนแล้ว 1.7 ล้านลบ. ปักหมุดผุดเกษตรนวตกรรมตั้งเป้า 2 ปี 2.2 ล้านลบ.

1228

สกพอ. เสนอ “กบอ.” ปรับแผนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี  5 ปีเริ่มจาก 2565-2569 ไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท หลังการลงทุนปีนี้จะบรรลุเป้าหมาย 1.7 ล้านลบ. เร็วกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1 ปี จ่อผุดแผนพัฒนาเกษตรในอีอีซีปี 2566-2570 ดัน 69 โครงการเน้น 5 คลัสเตอร์ เล็งประกาศสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษดัน EECa เป็นพื้นที่ต้นแบบการปฏิรูประบบราชการให้รองรับการลงทุนและความร่วมมือกับรัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยหลังการการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.)ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานเป็นประธานเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่ได้เดินหน้าแผนการลงทุนตั้งแต่เกิด พ.ร.บ. อีอีซี ปี 2561 – มิ.ย. 2564 โดยได้อนุมัติลงทุนแล้ว 1.6 ล้านล้านบาทคาดว่าสิ้นปีนี้จะถึง 1.7 ล้านล้านบาทซึ่งจะเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิมการลงทุน 5 ปี(ปี 2561-65 )จะอยู่ 1.7 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงได้เสนอปรับเพิ่มแผนการลงทุนในอีอีซี 5 ปีข้างหน้า(ปี 2565-2569 ) ไว้ไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

นายคณิศกล่าวว่า “การลงทุนที่เราทำไว้ช่วง 3 ปีกับ 8 เดือนนั้นเร็วกว่าเป้าที่กำหนดไว้ แบ่งเป็น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 4 โครงการหลักราว 6.3 แสนล้านบาทโดยเอกชนลงทุน 3.87 แสนล้านบาท การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากการออกบัตรส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ที่คาดว่าสิ้นปีนี้จะเป็นราว 2.5 แสนล้านบาท และงบบูรณาการอีกส่วนหนึ่งเราก็จะบรรลุเป้าหมายการลงทุนในอีอีซี 1.7 ล้านล้านบาทเร็วกว่าแผน1ปี”

สำหรับแผน5 ปีที่ปรับใหม่ (ปี 2565-2569) การลงทุนจะมีโครงการหลักประกอบด้วย 

การลงทุนเมืองการบินภาคตะวันออกประมาณ 1 แสนล้านบาท 

การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอีก 1 แสนล้านบาทและ

การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเฉลี่ยอีกปีละ 4 แสนล้านบาท โดยส่วนนี้จะแบ่งเป็น

1)การลงทุนพื้นฐานที่บีโอไอทำได้ปีละ 2 แสนล้านบาทและจะมีการเร่งรัดอีกปีละ 1.5 แสนล้านบาท

2)อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท 

3)อุตสาหกรรม 5G อิเล็กทรอนิกส์ปีละ 5 หมื่นล้านบาท 

4)การแพทย์สมัยใหม่ปีละ 3 หมื่นล้านบาท 

5)อุตฯขนส่งและโลจิสติกส์ปีละ 3 หมื่นล้านบาท 

ซึ่งทั้งหมดยังไม่นับโครงการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และโครงการภายใต้งบบูรณาการอีอีซี อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มอบหมายให้ไปพิจารณาการลงทุนด้านอื่นๆโดยเฉพาะด้านเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่กำลังเติบโต และรองรับเทรนด์อาหารโลก

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบ ร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (พ.ศ.2566 -2570) ที่ สกพอ. จัดทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยจะมีโครงการที่จะดำเนินการรวมทั้งสิ้น 69 โครงการกรอบวงเงิน 2,300 ล้านบาทแบ่งเป็นงบประมาณภาครัฐ 1,265 ล้านบาทที่เหลือเป็นส่วนของเอกชน โดยจะเน้นพัฒนา 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม 

เป้าหมาย เพื่อยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ อีอีซี เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ GDP ภาคเกษตรในอีอีซีเพิ่มขึ้น พร้อมกับดำเนิน โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC)

นายคณิศกล่าวว่า ที่ประชุมกบอ.ยังพิจารณา การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 

ภารกิจสำคัญโดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็น พื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) “การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทย ก้าวสู่ 1 ใน 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด” โดยมอบให้ สกพอ. จัดทำ “ร่าง” ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษี เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ได้พิจารณาแผนดำเนินการโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) 

โดยกำหนดแผนปฏิบัติการ ปี 2564 – 2565 จำนวน 4 แผนหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ 

1) จัดทำแผนการดำเนินโครงการ (Master Plan) 

2) จัดทำแนวคิดออกแบบโครงการฯ (Conceptual Design) 

3) วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และ 

4) จัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนและสิทธิประโยชน์ 

โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ไตรมาส 4 จะทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ของโครงการฯ พร้อมเจรจาร่วมกับบริษัท-หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมลงทุน และออกแบบรายละเอียดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆภายในพื้นที่โครงการฯ ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565