ย้อนนปช.53 ใช้วิทยุ-บุกยึดไทยคม สู่โซเชียลปลดแอก ตัดเน็ตเมียนมา

1828

จากที่วานนี้ (1 ก.พ. 2564) สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานข่าวว่า ช่วงเช้าตรู่ เมียว ยุนต์ โฆษกพรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี (NLD) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่น ๆ ได้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมา

การจับกุม อองซาน ซูจี เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่าอาจเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพเพื่อล้มรัฐบาล โดยอ้างข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ซึ่งพรรคของนางซู จี ได้รับชัยชนะถล่มทลาย พรรคเอ็นเอลดี สามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนเป็นสมัยที่สอง และสามารถคว้าที่นั่งในรัฐสภาไปทั้งหมด 396 ที่นั่งจากทั้งหมด 498 ที่นั่ง ทำให้มีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางข้อกังขาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งและมีประชาชนบางส่วนถูกตัดสิทธิ์การลงคะแนนเสียง

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของเมียนมา (เอ็มอาร์ทีวี) ระงับออกอากาศชั่วคราว สัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณข่ายโทรศัพท์ถูกตัด นักข่าวจำนวนมากถูกเรียกเข้าค่ายทหาร ทหารในเครื่องแบบเริ่มเคลื่อนกำลังเข้าควบคุมสถานที่ราชการหลายแห่งในเมืองย่างกุ้ง รวมถึงศาลว่าการเมือง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารบนท้องถนนในกรุงเนปิดอว์และนครย่างกุ้ง

โดยในการรัฐประหารครั้งนี้ มีการสกัดไม่ให้เกิดการชุมนุมเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร โดยทางกองทัพพม่าเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวมตัวต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการตัดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในกรุงเนปิดอและนครย่างกุ้งที่เป็นเมืองหลวงเก่า ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจการค้า ทหารได้เข้ายึดศาลาว่าการเมืองก่อนที่กองทัพจะออกแถลงการณ์ทางทีวี นอกจากนั้นยังมีรถบรรทุกหลายคันที่ขนเหล่าผู้สนับสนุนกองทัพวิ่งทั่วย่างกุ้งเพื่อฉลองการยึดอำนาจ ขณะที่สมาชิกเอ็นแอลดีได้รับคำสั่งจากกองกำลังความมั่นคงให้เก็บตัวอยู่บ้าน

นอกจากนี้ ในนครย่างกุ้งมีทหารและตำรวจปราบจลาจลรักษาการณ์ ท่ามกลางสถานการณ์โกลาหลที่ประชาชนรีบออกไปซื้อข้าวของจำเป็นตุนไว้ และอีกหลายคนเข้าคิวรอถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม และต่อมาไม่นานธนาคารก็พากันระงับการให้บริการเนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีปัญหา

กรณีนี้เอง หากมองกลับมาที่ประเทศไทยนั้นพบว่า ช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มม็อบราษฎร กลุ่มปลดแอก ซึ่งแกนนำและมวลชนเหล่านั้นใช้วิธีการสื่อสาร ปลุกระดมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยการโพสต์ข้อความทั้งภาพ เสียง ไม่ว่าจะเป็นทั้งคลิปหรือภาพนิ่ง เพื่อเรียกร้องให้คนในประเทศและต่างประเทศเห็นภาพความชุลมุนวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยหวังให้เกิดการประณามเจ้าหน้าที่ หรือฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นจากคนทั่วทุกมุมโลกว่าทำให้เกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่เพียงเท่านั้นบ่อยครั้งที่เหล่าแกนนำเองก็ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลฯ ประกาศนัดชุมนุมกันผ่านช่องทางดังกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น หากย้อนไปในปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 7-19 พ.ค. พ.ศ. 2553 ซึ่งรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม และรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณแยกราชประสงค์ ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ และหลังแกนนำผู้ชุมนุมเข้ามอบตัวกับตำรวจเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ได้เกิดเหตุเผาอาคารหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้ง เซ็นทรัลเวิลด์

พื้นที่แยกราชประสงค์ถูกล้อมด้วยรถหุ้มเกราะและพลแม่นปืนเป็นเวลาหลายวัน และเย็นวันที่ 13 พ.ค. พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ผู้สนับสนุนการรักษาความปลอดภัยแก่กลุ่มผู้ชุมนุม ถูกพลแม่นปืนยิงที่ศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวต่างประเทศ รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มอีก 17 จังหวัดทั่วประเทศ ฝ่ายกองทัพอ้างว่าพลเรือนที่ถูกฆ่าทั้งหมดเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายหรือไม่ก็เป็นผู้ก่อการร้ายติดอาวุธ และเน้นว่าบางคนถูกฆ่าโดยผู้ก่อการร้ายที่แต่งกายในชุดทหาร ทางกองทัพได้ประกาศ “เขตยิงกระสุนจริง” และศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินก็ห้ามเจ้าหน้าที่แพทย์มิให้เข้าไปในเขตดังกล่าว

วันที่ 16 พ.ค. แกนนำ นปช. กล่าวว่า พวกตนพร้อมที่จะเจรจากับรัฐบาลทันทีที่ทหารถูกถอนกลับไป แต่รัฐบาลเกรงว่าการถอนทหารจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำคนเติมเข้าไปในที่ชุมนุม จึงได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ รถหุ้มเกราะนำการสลายการชุมนุมครั้งสุดท้ายในตอนเช้าของวันที่ 19 พ.ค.

ประเด็นการชุมนุมในครั้งนั้นก็เช่นกัน ในตอนนั้นข่าวรายงานจากสถานีพีเพิล ชาแนล ชั้น 5 ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าวว่า จนท.ฝ่ายเทคนิคของสถานีพีทีวี ได้เชื่อมสัญญาณเสียงการปราศรัยบนเวทีราชประสงค์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต มาเปิดให้คนเสื้อแดงที่มารวมตัวหน้าสถานีพีทีวี บริเวณชั้น 5 ของห้างอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว

ขณะเดียวกันทางทีมงานพีทีวีก็ประกาศให้คนเสื้อแดงที่มาทำบัตรสมาชิกนปช.บริเวณชั้น 6 ของห้าง เมื่อเสร็จแล้วขอให้ช่วยกันมานั่งคุ้มกันรักษาสถานีพีทีวีและขอให้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งไปช่วยสถานีวิทยุชุมชนคลื่น 95.25 ย่านซอยโชคชัยร่วมมิตร ถนนวิภาวดี ซึ่งได้รับข้อมูลว่าทหารกำลังจะเคลื่อนตัวออกจากราบ 11 เพื่อปิดวิทยุชุมชน หากทหารทำสำเร็จ ช่องทางการสื่อสารของคนเสื้อแดงที่เหลืออยู่ไม่กี่ช่องทาง จะถูกปิดลงทั้งหมด

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ในตอนนั้น) ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์โดยชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการภายในสถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พ.ศ.2548 ว่า เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ปกติโดยเร็ว และเพื่อให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับถิ่นฐานอย่างปลอดภัย จากพื้นที่ที่ชุมนุม

รัฐบาลไม่มีวัตถุประสงค์ ไม่ต้องการใช้ความรุนแรงตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่ต้องการให้ชุมนุมภายใต้กฎหมาย ให้เกิดความสงบสุขแก่สังคม และได้ตั้ง ศอฉ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลความสงบ และคอยอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม ศอฉ. จะปิดการให้บริการของสื่อมวลชนที่ให้ข่าวสารบิดเบือน โดยเฉพาะสื่อที่ยั่วยุ รวมถึงสื่อทางอินเตอร์เน็ต เนื่องจากมีการปลุกระดม ชักชวนให้มาชุมนุม โดยหน่วยงานต่าง ๆ ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ทั้งนี้ขอยืนยันว่าสื่อทั่วไปจะไม่มีผลกระทบ ถ้ารายงานอย่างตรงไปตรงมา ยืนยันว่า ประชาชน สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใต้ พรก.ฉบับนี้

พร้อมกันนี้มีรายงานว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงปะทะกับทหารที่สถานีไทยคม ลาดหลุมแก้วต้องการให้เปิดพีทีวี โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปภายในสถานีด้วย

ขณะที่ สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร 97.5 เมกกะเฮิร์ต ซ.9 เทศบาลนครอุดรธานี สมาชิกชมรมคนรักอุดรจำนวนมากที่ใส่เสื้อแดงและเสื้อสีอื่น ได้ทยอยมาร่วมลงชื่อ เพื่อจะร่วมเดินทางไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงที่กรุงเทพ หลังจากนายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ได้จัดรายการออกอากาศสด ให้สมาชิกมาลงชื่อที่สถานีก่อนจะเดินทาง

ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงไปปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ NBT อีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลปิดสถานีโทรทัศน์ จึงจะไปปิดสถานีโทรทัศน์รัฐบาลได้เช่นกัน

และบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ภายหลังจากสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล ถูกตัดสัญญาณ แกนนำต่างทยอยขึ้นเวทีปราศรัยกล่าวโจมตีรัฐบาลที่ปิดพีเพิลชาแนลและการออกประกาศพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เพื่อจะสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ขณะที่ช่วงเที่ยงมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางตาจำนวนกว่า 5,000 คนกระจายตามจุดที่ให้ร่มเงาบริเวณสี่แยกราชประสงค์เพื่อหลบสภาพอากาศที่ร้อนจัด

ช่วงเวลาดังกล่าวหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ได้เดินทางไปปิดล้อมสถานีภาคพื้นดินดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และได้เผชิญหน้ากับทหารที่รักษาการณ์ที่สถานีดาวเทียมมีการปะทะกันถึงขั้นต้องฉีดน้ำและใช้แก๊สน้ำตา เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บ ทหารตำรวจเมื่อเห็นว่าไม่อาจต้านทานได้จึงถอนกำลังออกมา ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมสามารถบุกเข้าไปในรั้วยึดพื้นที่หน้าอาคารสถานีภาคพื้นดินดาวเทียมไทยคมไว้ได้

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (ในตอนนั้น) ได้สั่งให้ตำรวจคอมมานโด กองปราบปราม เตรียมกำลังให้พร้อมรอบุกจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมตามจุดต่าง ๆ ตามประกาศหมายจับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

ด้าน ที่สถานีดาวเทียมไทยคม จ.นนทบุรี ขณะที่ แกนนำกำลังปราศัยอยู่บนเวที นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้เข้ามาพูดคุยกับนายพายัพ ปั้นเกตุ และนายนิสิต สินธุไพร แกนนำคนเสื้อแดง ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งว่า พนักงานของบริษัทได้ถ่ายรูปรถขนอาวุธของทหารที่มาประจำการที่สถานีไทยคม ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี จึงได้เข้าไปดูภาพในห้องประชุมภายในอาคารไทยคม ต่อมาเวลา 14.45 น.นายสุพร อัตถาวงศ์ แกนนำแจ้งว่า ขณะนี้ เกิดการปะทะที่บริเวณสถานีไทยคม ลาดหลุมแก้ว ขอกำลังคนเสื้อแดงจากไทยคมนนทบุรีไปเสริมด่วน จากนั้น คนเสื้อแดงประมาณ 3 พันคนได้รีบขึ้นรถมอเตอร์ไซค์และรถปิคอัพเดินทางไปสมทบทันที