ผิดคาด!? “ฝ่ายค้าน” ยื่นซักฟอก “นายกฯ-5รมต.” ไร้ชื่อ “ประวิตร-ธรรมนัส” หรือข่าวลือจะเป็นจริง!?
จากกรณีที่มีกระแสพูดถึงว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ โดยทางด้านของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เปิดเผยว่า “เป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่ซับซ้อน ถ้าพรรคพลังประชารัฐยังอยู่ในระบอบประยุทธ์อยู่ ไม่มีทางเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะไปจับมือด้วย แต่ถ้าเขาปรับกลไกการบริหารมาทางประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ยึดระบอบประยุทธ์ ก็อาจจะคุยกันได้ แต่ถ้ายังเป็นอยู่เหมือนในปัจจุบันที่มีหัวหน้าพรรคเขาเป็นแกนนำของระบอบประยุทธ์ ไม่มีทางเป็นไปได้”
ซึ่งทางด้านของ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ก็ได้ตอกย้ำถึงความเป็นไปได้อีกด้วยว่า “การที่พรรคเพื่อไทยโหวตให้นำงบไปให้งบกลางครั้งนี้ไม่ใช่การเตรียมจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งสมัยหน้า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่กับพลังประชารัฐ เราไม่เอาด้วยแน่ แต่ถ้าวันหน้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ พรรคพลังประชารัฐอาจมีแนวคิดเหมือนพรรคเพื่อไทยก็ได้ ทำไมต้องเป็นศัตรูกันถาวร”
ล่าสุดวันนี้ (16 สิงหาคม 2564) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร
นายสมพงษ์ กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีร่วมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังมวลชนไทย เห็นถึงความบกพร่องของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา ทั้งการบริหารวัคซีน การจัดการสถานการแพร่ระบาดโควิด-19 และการบริหารเศรษฐกิจ พรรคฝ่ายค้านจึงมีความจำเป็นต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ จำนวน 6 คน ได้แก่
1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข
3.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
4.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
5.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
6.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
จึงขอให้ประธานสภาฯโปรตรวจสอบและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เพื่อเป็นเรื่องด่วนต่อไป
โดยนายชวน กล่าวว่า สภาจะรับไปตรวจสอบความถูกต้องและตรวจสอบเนื้อหาหากไม่ขัดข้อบังคับจะได้บรรจุเป็นเรื่องด่วนต่อไป ในทางปฏิบัติก็ต้องแจ้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือถึงเวลาอันสมควร อย่างไรก็ตาม เมื่อบรรจุญัตติแล้ว ผลทางกฎหมายจะยุบสภาฯในช่วงเวลานี้ไม่ได้ และการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญยังมีกระบวนการตามมาตรา 152 อภิปรายเพื่อขอคำชี้แจงและแนะนำ โดยไม่ลงมติ ซึ่งยังทำได้อีกครั้งหนึ่งในรอบปีนี้ ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลยื่นขออภิปราย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ด้วย แต่เหตุใดจึงถูกตัดชื่อออก นายพิธา กล่าวว่า แต่ละพรรคมีรายชื่อบุคคลไม่น่าไว้วางใจของตัวเอง แต่ที่สุดต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ให้โฟกัส 6 คน และมีความจำเป็นต้องพูดคุยกัน และรักษาบรรยากาศของการทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน