ไทย-อาเซียนได้เฮ! “รัสเซีย” เปิดตลาดใหม่ร่วมค้า ไม่ใช้สกุลดอลลาร์ เผยมีจีนร่วมด้วย

1596

จากกรณีที่ สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ล่าสุดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และตอบคำถามสื่อมวลชนไทย

โดยการแถลงข่าวในครั้งนี้ นายโทมิคิน มุ่งเน้นอธิบายประเด็นสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันถึงความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 50 วันแล้ว เพื่อชี้แจงในประเด็นความขัดแย้งในปัจจุบัน ผ่านมุมมองของฝ่ายรัฐบาลเครมลิน

นายโทมิคินกล่าวถึงความสำคัญของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รัสเซียได้รับจากมาตรการคว่ำบาตรของพันธมิตรชาติตะวันตกว่า นับตั้งแต่เกิดการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ผลกระทบใหญ่เกิดขึ้นต่อการค้าโลกในทันที โดยเฉพาะการนำเข้า-ส่งออก โลจิสติกส์ และภาคการธนาคารรัสเซียที่ถูกตัดขาดจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ

ซึ่งเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยเชื่อว่า บรรดาพันธมิตรชาติตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือ G7 จะไม่หยุดการคว่ำบาตรรัสเซียเพียงเท่านี้ โดยเชื่อว่าชาติยุโรปยิ่งจะพิจารณาเพิ่มการคว่ำบาตรต่อรัสเซียด้วยมาตรการอื่นมากขึ้น

ในมุมมองของนายโทมิคินมองว่า ยิ่งชาติตะวันตกเพิ่มคว่ำบาตรรัสเซียมากเพียงใด อาจกลายเป็น “บูมเมอแรงเอฟเฟกต์” ที่ย้อนกลับไปซ้ำเติมเศรษฐกิจของชาติพันธมิตรตะวันตกให้ย่ำแย่ลงมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่แล้ว ทั้งราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่หลายชาติกำลังเผชิญ

เอกอัคราชทูตรัสเซียยอมรับว่า การที่รัสเซียถูกชาติตะวันตกที่นำโดยสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนั้น แน่นอนว่ารัสเซียได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะภาคเอกชนรัสเซียที่ถูกแบนจากต่างชาติ ขณะที่บริษัทต่างชาติก็แห่ถอนทุนจากรัสเซีย ในเบื้องต้นรัฐบาลเครมลินประเมินผลกระทบจากสงครามยูเครนต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างน้อย 2 ปี หรืออาจนานกว่านั้น โดยเบื้องต้นรัฐบาลรัสเซียพยายามหามาตรการให้ความช่วยเหลือต่อทั้งประชาชนชาวรัสเซียที่มีรายได้น้อย รวมถึงช่วยเหลือในเบื้องต้นต่อภาคเอกชนรัสเซีย

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความขัดแย้งในยุโรป รัฐบาลเครมลินมองว่าอาจเป็นโอกาสที่ทำให้รัสเซียแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะกับชาติในเอเชียกลาง อาเซียน และเอเชียแปซิฟิก

ทูตรัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า “คว่ำบาตร” มาจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่ตั้งกฎขึ้นมา ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก โดยมีวาระซ่อนเร้นที่จะขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับโลกให้มากขึ้น

เมื่อถามว่า รัสเซียจะรับมืออย่างไร และปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวท่ามกลางการถูกคว่ำบาตรจากตะวันตกอย่างไร

นายโทมิคิน อธิบายว่า นี่เป็นสิ่งที่ไม่เพียงแค่ฝ่ายการเมืองในเครมลินจะให้ความสำคัญเท่านั้น แต่ภาคเอกชนรัสเซียยังให้ความสนใจถึงแนวทางรับมือในอนาคตด้วย รัสเซียมีแนวทางมุ่งใช้สถานการณ์นี้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปยังตลาดใหม่มากขึ้น

โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน เอเชียกลาง รวมถึงพันธมิตรเก่าแก่อย่าง “จีน” โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “หนึ่งแถบหนึ่งทาง” ของจีน ทั้งด้านการค้าแบบทวิภาคี เปิดโอกาสใหม่ในการแลกเปลี่ยนเงินตราโดยตรงระหว่างกันในรูปแบบเงินรูเบิลกับสกุลเงินประเทศคู่ค้า โดยไม่ผ่านระบบ SWIFT ที่ใช้สกุลดอลลาร์เป็นตัวกลางนอกจากความร่วมมือกับจีนและอาเซียน รัสเซียยังมุ่งแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ต่อชาติในตะวันออกกลาง, กลุ่มประเทศ BRICS

โดยรัฐบาลรัสเซียมีแนวทางให้ความสำคัญเพื่อต้านทานการคว่ำบาตรหลายประการ อาทิ พัฒนาขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้าแม้ถูกคว่ำบาตร, เพิ่มความสะดวกในระบบชำระเงินของภาคธนาคาร เมื่อตะวันตกตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบชำระเงิน SWIFT นั่นทำให้รัสเซียมุ่งไปใช้การชำระค่าสินค้าด้วยเงินรูเบิลแทน อีกทั้งมีหลายประเทศที่ให้ความสนใจแล้วอย่าง จีนและอินเดีย ผ่านการเชื่อมต่อกับระบบชำระเงินของประเทศคู่ค้า

อย่างไรก็ตาม ทูตรัสเซียยอมรับว่า วิธีการนี้อาจยังไม่ชัดเจนมากนักในภาพรวม แต่สิ่งที่ชัดเจนคือรัสเซียมีความมุ่งหมายขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปซึ่งคว่ำบาตรรัสเซียแล้ว 4 มาตรการ ทั้งมีแนวโน้มเตรียมออกการคว่ำบาตรเพิ่มอีก แม้จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซีย แต่รัสเซียเป็นชาติที่มีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมอันแข็งแกร่ง ทั้งมีทรัพยากรมากมาย รวมถึงยังได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ในประเทศ

ซึ่งทำให้รัสเซียยังคงมีความสามารถในการผลิตได้อยู่ สินค้าสำคัญของรัสเซียอย่าง เหมืองแร่ หรือ พลังงานรัสเซีย ยังคงเป็นที่ต้องการของบางชาติในยุโรป ด้วยเหตุนี้ทูตรัสเซียมองว่า “เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องเศรษฐกิจรัสเซีย การที่ชาติตะวันตกหวังว่าการเพิ่มคว่ำบาตรรัสเซียจะยิ่งทำลายเศรษฐกิจรัสเซีย .. แต่จะไม่สำเร็จ และจะไม่มีทางเป็นไปได้ มันเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา มันจะเป็นบูมเมอแรงเอฟเฟกต์สำหรับเศรษฐกิจของพวกเขาเช่นกัน”