ศรีสุวรรณร้องDSI!?! ฟันกก.คัดเลือกฯส่อพิรุธ แก้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม 1.28 แสนล้านทำรัฐเสียประโยชน์

2095

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาฯองค์การพิทักษ์รธน.ร้อง DSI เอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ส่อพิรุธแก้ TOR ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม ใช้ข้อเสนอทางเทคนิคเปิดช่องให้ใช้วิจารณญานบุคคล เป็นไปในทางส่อทุจริตไม่ได้เลือกผู้ให้ตอบแทนสูงสุดแก่รัฐ อย่างที่ใช้เป็นเกณฑ์ในโครงการร่วมทุนของรัฐอื่นๆที่ผ่านมา ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบแจงว่า เอกชนมีสิทธิฟ้อง ถ้าศาลยกเลิกก็แก้ไขใหม่ได้ เพราะยังไม่มีการประมูล

วันนี้ (28ก.ย.2563)  นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตาม ม. 36 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค.63 มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) โดยให้พิจารณาซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองการเงิน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนน 30/70 หากรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะได้รับการคัดเลือก เปรียบเทียบวิธีเดิมการพิจารณาจะแยกซองเทคนิค หากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองการเงิน โดยผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดจะได้รับการคัดเลือกนั้น

มติดังกล่าวส่อพิรุธหลายประการ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้กับโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน และการคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอทางเทคนิค จะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะจะเป็นการให้น้ำหนักในการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกได้มากกว่าแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนต่อรัฐสูงสุดก็ได้ ทำให้มีข่าวเล็ดลอดออกมาในลักษณะมีกลิ่นที่ไม่สู้ดีนักเกิดขึ้น ซึ่งเป็นข่าววงในที่ปิดกันให้แซดอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลง TOR ใหม่หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 ม.ค.63 และยังขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตาม ม.6(3) และ ม.32 ของ พรบ.ร่วมทุนฯ 2562 ประกอบกับข้อ 8(4) ของคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน 2563 อีกด้วย ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า การคัดเลือกตั้งประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯเท่านั้น เพราะข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวกำหนดว่า การพิจารณาจะพิจารณาทีละซองข้อเสนอเป็นลำดับไป โดยไม่ได้กำหนดให้นำคะแนนของซองข้อเสนอด้านเทคนิคมาร่วมพิจารณากับคะแนนของซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนเพื่อหาผู้ชนะการประเมินแต่อย่างใด

ดังนั้น การกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกฯที่กล้าเปลี่ยนแปลง TOR หลังจากมีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น น่าจะเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจเข้าข่ายความผิดหลายประการที่ส่อไปในทางที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการสืบสวน สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นคดีพิเศษ เพื่อสอบสวนบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ที่ส่อแสดงความพิรุธออกมาให้เห็นอย่างโจ่งครี่ม และไม่เคยมีปรากฏในลักษณะนี้มาก่อน สมาคมฯจึงจะนำความไปร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกฯที่กล้าเปลี่ยน TOR รถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 28 ก.ย.63 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน DSI ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม. นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

ความผิดยังไม่สำเร็จ-หากศาลยกเลิกก็แก้ไขใหม่?

รมว.คมนาคมยืนยันรฟม.สามารถปรับวิธีคัดเลือกรถไฟฟ้าสีส้มได้ เป็นไปตามกม. ชี้แจงว่ายังไม่มีการกระทำทุจริตเพราะยังไม่มีการยื่นซองประมูล ขณะที่ รฟม.มีข้อมูลพร้อมชี้แจงศาล เอกชนมีสิทธิ์สงสัยหรือฟ้องร้องได้ ถ้าศาลว่าไม่ถูกต้องก็แก้ไขใหม่ได้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า รฟม.ได้ยืนยันว่าได้ดำเนินการดังกล่าวอย่างโปร่งใสและตามกฎหมายกำหนด ที่สำคัญได้ปฎิบัติตามระเบียบTOR ที่ได้กำหนดซึ่งสามารถดำเนินการได้เนื่องจากเป็นประโยชน์กับทางรฟม.และราชการ โดยมีเอกสารยืนยันจากทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่าสามารถปรับรายละเอียดดังกล่าวได้

ทั้งนี้ การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก นี้ ไม่ใช่สายแรก ที่ผ่านมา รฟม.ได้เปิดประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รวมถึงสายสีเหลือง และสีชมพู ก็ได้ดำเนินการมาแล้ว ขณะเดียวกัน

ไม่ได้มีการปิดกั้นสิทธิของเอกชน ในการตั้งข้อสงสัย หรือร้องเรียน ประเด็นสำคัญคือรฟม.ต้อง แสดงข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงทั้งหมด ให้ชัดเจน

สำหรับกรณีที่มีบริษัทเอกชนไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ทางรฟม.ได้รายงานว่า พร้อมที่จะชี้แจงต่อศาล และนำข้อมูลไปยืนยันต่อศาลว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง หากศาลสั่งว่ารฟม.ถูกต้อง ก็ให้เร่งเดินหน้าต่อ หากศาลชี้ว่าไม่ถุกต้อง รฟม.ต้องปรับแก้ได้ไม่มีปัญหา