จากกรณีที่นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล ได้ออกมาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีช่วงหนึ่งระบุว่า มีแพทย์โทรมาบอกว่าให้ย้ายออกจากโรงพยาบาลให้ไปรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
ทั้งที่ยังไม่หาย ได้ยายังไม่ครบโดส แต่หมออ้างว่าเปลี่ยนแผนการรักษาได้ ให้ไปรักษาที่บ้าน และให้อยู่โรงพยาบาลต่ออีก 24 ชั่วโมง
ต่อมาในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปเสียงการสนทนาระหว่างนายณวัฒน์ อิสรไกรศีล กับ นพ.วิชัย ทวีปวรเดช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล โดยเป็นการพูดคุยขอให้นายณวัฒน์ออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากหมอลงความเห็นว่าอาการดีขึ้นแล้ว
และเมื่อคลิปดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้บนโลกโซเชียล ติด#ณวัฒน์ บนทวิตเตอร์ พร้อมขอร้องให้นายณวัฒน์ขอโทษคุณหมอ และวิจารณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ถ้าไม่มีคลิปเสียง คิดเอาแล้วกันว่าหมอจะเละแค่ไหน
ล่าสุดปู จิตกร บุษบา ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ เรียกว่าฟาดเจ็บทุกข้อ ว่าถ้าตนเองเป็นหมอ เป็นผู้บริหารรพ. จะดำเนินการให้เด็ดขาดกับนายณวัฒน์ โดยระบุข้อความในเฟซบุ๊กว่า “ถ้าผมเป็นหมอ ผมจะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ถ้าผมเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล ผมจะเอาผิดฐานละเมิดขณะรับการรักษาพยาบาล และทำให้โรงพยาบาลถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
ถ้าผมเป็นตัวแทนประกัน ผมจะดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาไปตามกฎเกณฑ์ที่สมควร ในการที่ผู้เอาประกัน พยายามจะยื้อเวลาในการรักษาตัว
ถ้าผมเป็นสาวงาม ผมไม่มีวันจะเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ของคนผู้นี้
ถ้าผมเป็นสปอนเซอร์ ผมจะยกเลิกทุกการสนับสนุนตลอดไป
ถ้าผมเป็นผู้ผลิตรายการ ผมจะไม่จ้างคนคนนี้อีกเลย
ความสุจริต โปร่งใส คือ หัวใจของคนดี”
อย่างไรก็ตามทางด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลดังกล่าวได้ชี้แจงข้อมูลในเบื้องตันว่า ในส่วนของคุณณวัฒน์นั้น ทางโรงพยาบาลได้ประเมินแล้วว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่อาการพ้นวิกฤต และมีอาการดีขึ้นอยู่ในระยะพักฟื้น (Step Down) ทางโรงพยาบาลจึงดำเนินการให้ผู้ป่วยไปพักฟื้นที่สถานพยาบาลชั่วคราว (Hospitel) หรือให้กลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่อง โดยวิธีกักตัวที่บ้าน (Home Isolaion) ตามแนวทางการรักษาแบบ Step-down care ซึ่งจะทำได้โดยความสมัครใจของผู้ป่วย เพื่อจัดเตียงให้กับผู้ป่วยโควิด-19 รายอื่น ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องใช้เตียงรักษาตัวในสถานพยาบาล
และเมื่อผู้ป่วยเข้าพักที่ Hospitel หรือกลับไปที่พัก ที่บ้านแล้ว สถานพยาบาลเอง ก็จะมีการติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดทุกวัน ผ่านระบบ Video Call หรือ Teleconference มีอุปกรณ์วัดไข้และออกซิเจนส่งไปให้มีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน หากผู้ป่วยมีอาการทรุดลง ก็จะมีการรับตัวผู้ป่วยกลับไปรักษา ณ สถานพยาบาลโดยทันที
ในกรณีของคุณณวัฒน์ได้ครองเตียงผู้ป่วยมาแล้วเป็นเวลา 22 วัน ซึ่งแพทย์ก็ได้มีการประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ จึงมีการแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ แต่อาจจะด้วยการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ จึงทำให้คุณณวัฒน์เกิดความเข้าใจผิดว่า ทางโรงพยาบาลให้ออกจากโรงพยาบาลทั้งที่อยู่ระหว่างการรักษา