รัฐบาลปลื้มสถาบันIMD จัดอันดับไทยยกระดับขีดความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้นอีก 1 อันดับ จากอันดับ 29 ปีที่แล้วเป็น 28 ในปีนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจในการแข่งขัน ขณะที่สภาพัฒน์ฯมั่นใจไทยทำได้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะแซงอันดับในอาเซียน แนะ 4 ข้อปัจจัยความสำเร็จ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ สถาบัน IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2564 ซึ่งประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 28 จากทั้งหมด 64 เขตเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพอใจกับความสามารถการแข่งขันของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นดังกล่าว แม้คะแนนเฉลี่ยสุทธิในปีนี้จะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 72.52 แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับเขตเศรษฐกิจทั่วโลกที่คะแนนสุทธิปรับตัวลดลง จากผลกระทบสำคัญเดียวกันคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบทุกภาคเศรษฐกิจทั้งการบริโภค การลงทุนในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยว
ด้านสภาพัฒน์ฯ ชี้ว่าอันดับขีดสามารถในการแข่งขันของไทยมีโอกาสปรับเพิ่มได้อีกหลังจากได้อันดับที่ 28 ปีนี้ตามการจัดอันดับของ IMD แนะเร่งยกระดับ 4 ด้านเพิ่มศักยภาพระยะยาว หวังเพิ่มคะแนนแซงมาเลเซียในระยะสั้นและสิงคโปร์ในระยะยาว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน “International Institute for Management Development” หรือ “IMD” ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้ได้อันดับ 28 จาก64 ประเทศทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับจากปีที่ผ่านมา
ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้นโดยมีเป้าหมายระยะยาวอยู่ที่การขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ส่วนเป้าหมายในระยะสั้นคือการเพิ่มอันดับแซงประเทศมาเลเซียขึ้นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ทั้งนี้การขยับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว ต้องพัฒนาในหลายด้านคือ
1.ยกระดับการทำงานภาครัฐให้มีความทันสมัยเข้าสู่ระบบดิจิทัลให้เร็วขึ้น รวมทั้งการปรับการใช้ข้อมูลภาครัฐให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์มาวางแผนจัดทำนโยบายต่างๆได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
2.เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมทั้งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เร็วขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้การสร้างโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจ
3.ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคน ยกระดับการพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และแนวโน้มการพัฒนาของเศรษฐกิจของโลกในอนาคต
และ 4.ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยทำได้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน และการรักษาวินัยทางการเงินการคลังเพื่อให้เศรษฐกิจมีเสภียรภาพได้อย่างต่อเนื่อง
นายดนุชากล่าวว่าในส่วนของการจัดอันดับของ IMD ในปีนี้ที่เมื่อพิจารณาดูจากคะแนนในด้านต่างๆพบว่าคะแนนของไทยมีการปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้าน ยกเว้นในเรื่องของสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนนี้ IMD ให้ความสำคัญในส่วนของเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ และเรื่องของภาคการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองส่วนเราได้คะแนนลดลงมากโดยในส่วนของการค้าระหว่างประเทศลดลง 16 อันดับ และการลงทุนระหว่างประเทศที่ลดลงถึง 3 อันดับ โดยปัจจัยทั้งสองส่วนนั้นเป็นผลมาจากผลกระทบของโควิดที่ส่งผลทั้งต่อการลงทุนและการส่งออกในปีที่ผ่านมาได้รับผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้คะแนนลดลง
ส่วนคะแนนในเรื่องของระดับราคา (Price) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดคะแนนในด้านนี้ลดลง 9 อันดับจากอันดับที่ 28 มาอยู่ที่ 24 ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากในเรื่องของเงินเฟ้อแต่มาจากค่าใช้จ่ายในการครองชีพที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับรายได้ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลง
ในระดับอาเซียน IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจ โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นาถึงแม้จะมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 1 ในปีที่แล้วมาอยู่ในอันดับที่ 5 ในปีนี้ ในขณะที่มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีอันดับดีขึ้นโดยอยู่ในอันดับที่ 25 และ 37 ตามลาดับ ส่วนฟิลิปปินส์มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 45 ไปอยู่ในอันดับที่ 52 ในปีนี้
เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2564 ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 2 สวีเดน อันดับ 3 เดนมาร์ก อันดับ 4 เนเธอร์แลนด์ และอันดับ 5 สิงคโปร์ โดย 4 ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เขตเศรษฐกิจทั้ง 5 ข้างต้น มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงในปีนี้ ได้แก่ การ ลงทุนในนวัตกรรม (Innovation) การนำเทคโนโลยีมาใช้ (Digitalization) ระบบสวัสดิการที่ดี (Welfare benefits) และความสมานฉันท์ในสังคม (Social cohesion)