เปิดเบื้องลึก “ธรรมนัส” แห้วแล้วแห้วอีก ชวดเก้าอี้รมว.!! จากล่า 80 รายชื่อ-สอดไส้คำสั่งคุมภาคใต้?? ทำนายกฯเคืองหลายครั้ง!?!

1778

เปิดเบื้องลึก “ธรรมนัส” แห้วแล้วแห้วอีก ชวดเก้าอี้รมว.!! จากล่า 80 รายชื่อ-สอดไส้คำสั่งคุมภาคใต้?? ทำนายกฯเคืองหลายครั้ง!?!

จากกรณีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ได้มีการเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ มีการปรับตำแหน่งต่างๆอาทิ รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการ และทำให้ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ขึ้นนั่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ทำให้หลายคนจับตาการเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อเตรียมเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

ซึ่งหลายคนได้จับตามองในก้าวต่อไปของ ธรรมนัส ว่าจะยกฐานะจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นมาเป็น รัฐมนตรีว่าการฯได้หรือไม่

ย้อนกลับไปดูวันที่ 27 มิ.ย.63 ธรรมนัส ในฐานะรักษาการกรรมการบริหารพรรค ออกตัว ฟันเปรี้ยงสยบข่าวลือว่า 4 กุมาร จะลาออกจากพลังประชารัฐ โดยเปิดเผยผ่านสื่อชัดเจนว่า กระแสข่าวว่าจะมีการตั้งให้ตัวเองขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรค เพราะถือเป็นกำลังหลักสำคัญของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า การแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรค เป็นหน้าที่ของว่าที่หัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่จะมีการแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับหัวหน้าพรรคสามารถแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคได้ แต่วันนี้ที่ประชุมมีการเลือกตั้งเพียง 4 ตำแหน่งเท่านั้น กรรมการบริหารพรรคอื่นๆยังคงอยู่ตำแหน่งเดิม และเชื่อว่าการเพิ่มอำนาจให้หัวหน้าพรรคครั้งนี้จะไม่สร้างปัญหาในอนาคต เพราะหัวหน้าพรรคมาจากการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคได้มอบอำนาจให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ตัดสินใจตามระบบประชาธิปไตย

ส่วนปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หรือ กลุ่ม 4 กุมาร นั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ส่วนตัวยังคงเหมือนเดิมกับทุกคนในพรรค เพราะตนเองเป็นลูกผู้ชายใจนักเลง ส่วนจะเกิดความน้อยใจของกลุ่ม 4 กุมาร ที่ไม่ได้รับตำแหน่งภายในพรรค และมีข่าวว่าจะถอนตัวออกไปหรือไม่นั้น ส่วนตัวเชื่อว่าอดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค และอดีตกรรมการบริหารพรรคชุดเก่า มีความเป็นสุภาพบุรุษพอ เมื่อถึงเวลาไปก็ต้องไป และเชื่อว่าทุกท่านจะยินดีไปเองไม่มีใครบังคับ ต้องการเข้ามาเล่นการเมืองเมื่อถึงเวลาไปก็ต้องไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิแต่ละท่าน และเรื่องนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เรื่องการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

โดยผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้จะมองหน้ากันติดหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่เป็นอย่างนั้นเพราะการเมืองก็แค่เวทีละครโดยมีประชาชนเป็นผู้กำกับ การเข้ามาทำหน้าที่ของพ​ล.อ. ประวิตร ครั้งนี้เพื่อความพร้อมในการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งต่างๆ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้วางยุทธศาสตร์ทั้งหมด โดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อมที่พรรครัฐบาลไม่เคยแพ้ เท่ากับว่าศึกภายนอกพล.อ.ประวิตร สามารถทำประสบความสำเร็จแล้ว และเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้จำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง กล้าตัดสินใจในการเดินหน้าประเทศ เพราะประเทศบอบช้ำมามากพอแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาผู้นำของพรรคพปชร.มีปัญหาที่สื่อมวลชนรู้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นในเวลานี้จำเป็นจะต้องมีผู้นำที่ทำให้พรรคเป็นหนึ่งเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ร.อ.ธรรมนัส เลือกที่จะอยู่ข้างผู้ชนะใช่หรือไม่ ซึ่งร.อ.ธรรมนัส ตอบด้วยสีหน้าที่ไม่พอใจ ว่า พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่นิสัยของตนเอง เพราะตนเองมีหลักการเป็นของตัวเองในการเล่นการเมือง ขออย่าถามแบบนี้อีก ผมมาเล่นการเมืองผมไม่ได้มาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ผมมาต้องการสร้างสรรค์ ไม่ได้มาทำลายใคร

ซึ่งต่อมา ก็ทำให้หลายๆคน รวมถึง กลุ่ม 4 ช. ที่ประกอบด้วย 4 รัฐมนตรีช่วย คือ ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ต่างมองเป็นภาพเดียวกันว่า การที่ ธรรมนัส เคลื่อนไหวโจ่งแจ้งแบบนี้ ต้องหวังว่าอาจจะมีโอกาสได้ขึ้นแท่น เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะถือว่าตนเองเป็นกำลังหลักของ บิ๊กป้อม แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อมาเมื่อมีการปรับเปลี่ยนถึง 8 ตำแหน่ง ที่น่าสนใจก็คือ นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้ขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งที่ทางด้านของ นายสุชาติ ไม่มีชื่อติดโผแม้แต่ รมช. เสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ของ สุชาติ ที่บารมีภายในพรรคแทบไม่มีเหลือ วันโหวตเลือกกรรมการบริหารพปชร.ชุดใหม่ ผู้ได้รับเลือกล้วนแล้วแต่ได้คะแนนโหวตไม่น้อยกว่า 500 ทุกคน มีเพียงสุชาติ คนเดียวที่ได้ 491 คะแนน น้อยสุดในบรรดากรรมการบริหาร พปชร.ชุดใหม่ เป็นถึงรัฐมนตรีว่าการฯ แต่คะแนนน้อยกว่า ส.ส. หากย้อนไปดูคะแนนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อช่วงต้นปี 2564 สุชาติ ได้คะแนนไว้วางใจน้อยเป็นลำดับสองรองจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่พ้น ครม.ไปแล้ว มิหนำซ้ำยังต้องย้ายตัวเองไปร่วมทีมกับกลุ่มสามมิตร หลังจากได้รับความช่วยเหลือจาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ฉะนั้นชื่อของสุชาติ จึงถูกจัดอยู่ในลิสต์ตัวเต็งพ้นเก้าอี้รัฐมนตรี หากมีการเดินเกมใช้ ส.ส.กดดันให้ปรับครม.เพื่อเคลียร์ทาง

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ.64 หลังจาก 3 รัฐมนตรีว่าการฯ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ถาวร เสนเนียม ต้องหลุดจากเก้าอี้ ในคดี กปปส.ล้มเลือกตั้ง หลังจากนั้น เพียง 2 วัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดย ธรรมนัส ก็รีบเคลื่อนไหว ล่า 80 รายชื่อ เพื่อทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ “ห้ามนำคนนอก” มาเป็นรัฐมนตรี และขอมอบอำนาจให้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างลง

ซึ่งก็ค่อนข้างที่จะชัดเจนว่า เป็นการวางหมากให้ดัน ธรรมนัส ขึ้นมานั่งแท่น ในตำแหน่งเก้าอี้ที่กำลังว่าง ถึงขนาดมีการตั้งโผว่า ธรรมนัส จะได้ไปเป็น รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แต่สุดท้ายโผที่วางไว้ก็ต้องผิดคาด เมื่อมีการดัน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ขึ้นมาเป็น รัฐมนตรีว่าการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และดันทางด้านของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ขึ้นมาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งที่ทางด้านของ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ก็เล็งอยากจะขอนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่

ซึ่งถือว่าการแต่งตั้งทั้ง 2 คนนี้ ไม่ว่าจะเป็น ชัยวุฒิ หรือ ตรีนุช มาเป็น รัฐมนตรี เป็นการกระโดดข้ามขั้นและพลิกโผเป็นอย่างมาก เพราะหากว่าเทียบกันแล้วหมัดต่อหมัด ธรรมนัส ออกจะดูมีบารมีเต็มเปี่ยมและดีกว่าทุกคน แต่การที่ธรรมนัส ได้ล่า 80 รายชื่อ เป็นการกระทำที่ทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะอำนาจในการตัดสินใจนั้นเป็นของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

หลังจากนั้น พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีการสอดไส้คำสั่งให้ ธรรมนัส เป็นผู้ดูแลพื้นที่ภาคใต้ โดยการตัด นิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งเคยเป็น สส.สงขลา และดูแลจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ส่งผลให้ทางด้านของ พลเอกประยุทธ์เกิดความลำบากใจเป็นอย่างมาก ทำให้ในวันที่ 20 เม.ย.64 ได้มีคำสังประชุมคณะรัฐมนตรี และมีการยุติคำสั่งดังกล่าวอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า หลังจากที่ ธรรมนัส ได้นั่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐแล้ว ยังจะตามฝันในการเป็นรัฐมนตรีว่าการฯได้หรือไม่ หากแต่ว่า อำนาจในการตัดสินใจนั้นยังเป็นของ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี