จีนประณามแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมสุดยอดผู้นำG7 ที่วิจารณ์จีนเรื่องสิทธิมนุษยชนในเขตซินเจียงและฮ่องกง ระบุเป็นการชักใยทางการเมืองและก้าวก่ายกิจการภายในของจีน พร้อมเรียกร้องG7 หยุดใส่ร้ายป้ายสีจีน เพราะจีนพร้อมจะปกป้องอธิปไตยของประเทศและประชาชนจีนอย่างถึงที่สุด
เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าแถลงการณ์ของที่ประชุมสุดยอดผู้นำG7 ที่ปิดฉากการประชุมนาน 3 วันที่อังกฤษเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มิ.ย.2564 กล่าวหาจีนว่าละเมิดสิทธิของชนกลุ่มน้อยในเขตซินเจียง และนักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้จีน “เริ่มดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นในแง่ของบรรทัดฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน”
วันต่อมาสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำสหราชอาณาจักรตอบโต้แถลงการณ์นี้อย่างโกรธเกรี้ยว โดยประณามกลุ่มG7 ว่า “ก้าวก่าย” และว่า จีนไม่พอใจอย่างรุนแรงและคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวต่อการกล่าวถึงซินเจียง, ฮ่องกง และไต้หวัน อย่างบิดเบือนของเท็จจริงและเปิดเผยเจตนาร้ายของ สหรัฐฯ แถลงการณ์ของสถานทูตกล่าวประณามคำกล่าวหาของG7 ว่าโกหก เป็นข่าวลือ และไม่มีมูลความจริง
“กลุ่มG7 ฉวยประโยชน์จากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับซินเจียงมาใช้ในการชักใยทางการเมืองและก้าวก่ายกิจการภายในของจีน ซึ่งจีนคัดค้านอย่างรุนแรง”
“กิจการภายในของจีนต้องไม่ถูกก้าวก่าย ชื่อเสียงของจีนต้องไม่ถูกใส่ร้ายป้ายสี และผลประโยชน์ของจีนต้องไม่ถูกละเมิด” คำแถลงของสถานทูตจีนกล่าว “เราจะปกป้องอธิปไตยแห่งชาติ, ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของเราอย่างเด็ดเดี่ยว และต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวต่อความอยุติธรรมและการละเมิดทั้งหมดที่กระทำต่อจีน”
“สำหรับเราแล้ว…เราเชื่อเสมอว่า บรรดาประเทศต่างๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เข้มแข็งหรืออ่อนแอ รวยหรือจน ต่างมีค่าเท่ากัน และกิจการของโลกทั้งมวล ควรอยู่ภายใต้การวินิจฉัยชี้ขาดร่วมกันของบรรดาเขาเหล่านั้น”
การประชุมแบบพบตัวกันครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ผู้นำG7 ที่ประกอบด้วย สหรัฐ, อังกฤษ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่น และเยอรมนี ผู้นำเหล่านี้ยังได้ประกาศความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19, ภาวะโลกร้อน, ด้านสิทธิ และการค้าด้วย พวกเขาเรียกร้องให้มีการสอบสวนครั้งใหม่ในจีนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในจีนเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งองค์การอนามัยโลกส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสอบสวนแล้วเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ แต่รายงานสรุปที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมกลับไม่ได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ
ผลการประชุมกลุ่ม G7 ยังประกาศจัดตั้งกองทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ที่ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า จะมีความเป็นธรรมมากกว่าความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน หรือ BRI:One Belt and Road Initiative ประมาณว่าจะเริ่มแข่งละนะ แต่ช้าไปหรือไม่เมื่อหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนก้าวหน้ามา 8 ปีกว่าแล้ว
เหตุการณ์นี้ดูผิวเผินอาจรู้สึกตื่นเต้นกับการรวมประเทศมหาเศรษฐีโลกรุมพญามังกร แต่ลองฟังดูแง่คิดของนักวิชาการที่คร่ำหวอดกับเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก
มาร์ติน ฌากส์ (Martin Jacques)เคยทำงานเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ภาควิชาการเมืองและการระหว่างประเทศศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Department of Politics and International Studies at Cambridge University) สหราชอาณาจักรเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์รับเชิญอยู่ที่ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ ของมหาวิทยาลัยชิงหวา (Institute of Modern International Relations at Tsinghua University) ในกรุงปักกิ่ง ได้กล่าวสรุปการชุมนุมของกลุ่มประเทศร่ำรวย G7 ที่นำโดยสหรัฐฯอย่างทะลุปรุโปร่งว่า
เวลานี้เมื่อG7 อยู่ใต้การนำของปธน.โจ ไบเดน กำลังทำตัวราวกับต้องการยืนยันว่าตนเองอับแสงถูกบดบังจนมัวซัวเสียแล้ว ในฐานะเป็นสถาบันระดับโลก จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะวางกรอบ จี7 เสียใหม่ให้กลายเป็นตัวแทนและเป็นแชมเปี้ยนผู้พิทักษ์โลกประชาธิปไตย ในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นวลีที่มุ่งจะให้หมายถึงจีนนั่นเอง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ ทั้งเกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, และแอฟริกาใต้ จึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของ จี7 สัปดาห์นี้ด้วย กระทั่งมีการพูดจากันถึงเรื่องที่ จี7 กำลังจะกลายเป็น ดี10 (D10 D ตรงนี้มุ่งที่จะหมายถึง Democracy ประชาธิปไตย) อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีแต่จะเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงอำนาจที่กำลังเสื่อมทรุดลงของ G7 เท่านั้นเอง นั่นคือ จากการเป็นผู้นำโลก ก็กำลังกลายเป็นผู้นำของกลุ่มลัทธิทางอุดมการณ์เท่านั้น
การก้าวผงาดขึ้นมาของจีน คือสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารให้แก่เศรษฐกิจโลก ทำให้ G7 ต้องกลายเป็นผู้ยืนมองอยู่ข้างๆ และในเวลาเดียวกันนั้น ยังได้เปลี่ยนแปลงรูปโฉมระบบเศรษฐกิจของชาติ G7 หลายๆ รายอีกด้วย การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สร้างลู่ทางโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับเยอรมนี, ฝรั่งเศส, และอิตาลี นี่คือเหตุผลที่ทำไมพวกเขาจึงคัดค้านไม่ยอมให้ G7 กลายเป็นผู้รณรงค์ต่อต้านจีน
ทางด้านญี่ปุ่นก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน เช่นเดียวกับชาติที่อาจจะถูกรับเข้ามาใหม่อย่างเช่น เกาหลีใต้ และแอฟริกาใต้ ตรงนี้เองที่แบให้เห็นกันอย่างเปล่าเปลือย ถึงร่องรอยแยกทั้งของ G7 และของการขยายสมาชิกภาพใหม่ๆ โลกตะวันตกนั้นกำลังเกิดการแบ่งแยกและแตกแยกกัน อำนาจสั่งการของสหรัฐฯอยู่ในภาวะเสื่อมถอย ไม่สามารถที่จะเดินหน้าไปตามที่ตนเองต้องการ ดังที่เคยทำได้ในอดีตเสียแล้ว
ด้าน BRI นั้นเป็นนโยบายที่ประกาศอย่างชัดเจนและมีพลังโน้มน้าวใจ ของความสัมพันธ์ที่จีนมีอยู่กับโลกกำลังพัฒนา จากรากเหง้าของการที่จีนเองในอดีตเคยมีฐานะตกเป็นชาติกึ่งเมืองขึ้น และมีฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนารายหนึ่งเรื่อยมา
ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายตะวันตกประสบความล้มเหลวเนื่องจาก ประวัติศาสตร์ของพวกเขามีความแตกต่างอย่างชนิดเป็นอีกข้างหนึ่งแบบโจ่งแจ้งโทนโท่ เป็นประวัติศาสตร์แห่งการล่าเมืองขึ้น แห่งการขูดรีดและการพิชิตปราบปรามประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ฝ่ายตะวันตกขาดไร้ทั้งประสบการณ์, ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ, ตลอดจนแรงจูงใจอย่างที่จำเป็นต้องมี ช่องว่างที่ดำรงคงอยู่ในปัจจุบันระหว่างโลกตะวันตกผู้ร่ำรวย กับโลกกำลังพัฒนานั้น คือความแตกแยกร้าวฉานหลากมิติมากแง่มุม ซับซ้อนจนบางทีสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกยากจะเข้าใจ