นิวซีแลนด์จะไม่ยกเลิกการสั่งห้ามเรือพลังงานนิวเคลียร์เข้าสู่น่านน้ำเป็นเวลาหลายสิบปีหลังจาก ข่าวการตัดสินใจของพันธมิตรไตรภาคีของออสเตรเลีย-สหรัฐ-อังกฤษ ในการพัฒนากองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น แถลงจุดยืนทันที
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 ก.ย.2564 จาซินดา อาร์เดิร์น(Jacinda Ardern)นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ กล่าวว่าคู่หูชาวออสเตรเลียของเธอ นรม.สก็อต มอร์ริสัน (Scott Morrison) ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับแผนการของแคนเบอร์ราในการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรนั้น
เธออธิบายข้อตกลงดังกล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้วเกี่ยวกับเทคโนโลยีและฮาร์ดแวร์ด้านการป้องกัน” โดยแสดงความเห็นฐานะความเป็นหุ้นส่วนที่เรียกว่า “Five Eyes” ของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์
ผู้นำนิวซีแลนด์กล่าวในแถลงการณ์ว่า“ข้อตกลงนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยและข่าวกรองของเรากับทั้งสามประเทศ รวมถึงแคนาดา”
แต่เธอยังกล่าวอีกว่า นิวซีแลนด์จะคงคำสั่งห้ามเรือพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงปี 1985 ซึ่งหมายความว่าเวลลิงตันจะไม่อนุญาตให้ออสเตรเลียพัฒนาทรัพย์สินทางเรืออันล้ำค่าดังกล่าวแล้วส่งเข้าไปในน่านน้ำของนิวซีแลนด์
อาร์เดิร์นย้ำว่า“จุดยืนของนิวซีแลนด์เกี่ยวกับการห้ามเรือพลังงานนิวเคลียร์ในน่านน้ำของเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลง”
การลงนามสัญญษห้ามดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังการทดสอบนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก และนำไปสู่การที่กองทัพเรือสหรัฐฯ สั่งห้ามเรือรบของตนไม่ให้เข้าสู่ท่าเรือนิวซีแลนด์เป็นเวลานานกว่า 30 ปี
เรือพิฆาต USS Sampson ได้ไปเยือนท่าเรือนิวซีแลนด์เมื่อปลายปี 2016 แต่หลังจากที่นายกรัฐมนตรี John Key ในเวลานั้นให้การยกเว้นเป็นพิเศษ โดยให้การรับรองว่าเรือลำดังกล่าวไม่ได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์
ซึ่งนโยบายอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ คือไม่เปิดเผยว่าเรือของตนมีขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์หรือไม่
อันที่จริง นโยบายของเวลลิงตันที่มีต่อปักกิ่งนั้นแตกต่างจากพันธมิตรใน Five Eyes โดยเฉพาะวอชิงตันและแคนเบอร์รา เพราะประการแรก เศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ค่อนข้างเล็กในตลาดโลก และต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดจีน ณ สิ้นปี 2019 จีนเป็นตลาดสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ เป็นแหล่งของนักศึกษาต่างชาติที่ใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่เป็นอันดับสองของนิวซีแลนด์ ยังเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อีกด้วย
การส่งออกส่วนใหญ่จากนิวซีแลนด์คล้ายกับการส่งออกจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ในบริบทนี้ เวลลิงตันาจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และเป็นมิตรกับตลาดที่เปิดเช่นจีน เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 ทั้งสองประเทศเพิ่งลงนามในข้อตกลงยกระดับสนธิสัญญาการค้าเสรีที่มีอยู่ ซึ่งทำให้การส่งออกจากนิวซีแลนด์เข้าถึงจีนได้มากขึ้น
ประการต่อมา เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ซึ่งคนผิวขาวเป็นตัวกำหนดนโยบายต่างประเทศของพวกเขาเป็นหลัก ชาวเมารีในปัจจุบันได้ครอบครองตำแหน่งสำคัญในทางการเมืองในนิวซีแลนด์มากขึ้น ดังนั้น นโยบายของเวลลิงตันจึงเน้นเรื่องกิจการภายในประเทศมากกว่าและมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติได้จริงมากกว่า
ตัวอย่างเช่น ในปี 1984 นิวซีแลนด์ได้ออกกฎหมายที่ทำให้ทั้งประเทศเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้เรือรบของสหรัฐฯ ไม่สามารถเทียบท่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงถอดนิวซีแลนด์ออกจากพันธมิตรทางทหารของออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์-สหรัฐฯ และลดระดับสถานะทางการทูตจากพันธมิตรที่ใกล้ชิดมาเป็นเพื่อนธรรมดา แม้จะอยู่ภายใต้แรงกดดันของสหรัฐฯ นิวซีแลนด์ก็ยังเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์