ไทยสร้างไทย แถลงจุดยืนแก้รธน.ทั้งฉบับ เว้นหมวด1-2 ย้อนวัน “วัฒนา” ประกาศลาเพื่อไทย! ไม่เอาสาธารณรัฐ!

2117

จากกรณีเมื่อวานนี้ (14 มิถุนายน 2564) นายโภคิน พลกุล และนายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย ร่วมกันแถลงข่าว แสดงจุดยืนต่อการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

โดยนายโภคินกล่าวว่า การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ต้องการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งเป็นหลัก ผนวกกับการให้ ส.ส. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย จึงใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มีส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ห้ามส.ส. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณโดยเด็ดขาด ไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ต้องการแก้ไขเฉพาะประเด็นที่พรรคการเมืองใหญ่จะได้เปรียบในการเลือกตั้ง ตรงข้ามกับเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญ2560 กำหนดไว้ ส่วนการแก้ไขรายมาตราที่เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ทำเพียงเพื่อให้ดูดีเท่านั้น

นายโภคินกล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยขอยืนยันว่า ต้องการมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1-2 ตามร่างที่ได้เสนอไว้ต่อคณะกรรมาธิการฯ และพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นชอบจนผ่านวาระ 1-2 ของรัฐสภาแล้ว หากจะมีการแก้ไขรายมาตรา ต้องเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจและขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเป็นสำคัญ เช่น การตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี การนิรโทษกรรมคสช. และผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญที่สุด ได้เสนอไว้ในรายงานของกรรมาธิการคือ ต้องมีบทบัญญัติ ห้ามนิรโทษกรรมการรัฐประหารหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่า รัฐสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายประชามติ ที่เสร็จสิ้นในชั้นกรรมาธิการแล้ว ให้จบวาระ 2-3 เพื่อเสนอโปรดเกล้าฯ ทรงลงประปรมาภิไธย และเมื่อมีผลใช้บังคับ นายกรัฐมนตรี องค์กร และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องรีบทำประชามติ ถามประชาชนว่า สมควรจะมี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างและเห็นชอบโดยประชาชนหรือไม่ โดยทันที

“พรรคไทยสร้างไทย ขอเรียกร้อง ให้พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกันผลักดัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ตกไปในวาระ 3 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง อย่าได้หลงประเด็นไปกับการแก้รายมาตรา ที่ไม่ได้ขจัดการสืบทอดอำนาจ หรือเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของพรรคตนในการเลือกตั้งเป็นสำคัญ” นายโภคินกล่าว

ในขณะที่ทางด้านของ นายวัฒนา กล่าวว่า เมื่อครั้งที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้รับฟังความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยประชาชน คือร่างโดยสสร. รายงานนี้ ได้นำเข้าเสนอต่อคณะกรรมธิการ คณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ที่มาจากหลายพรรคการเมือง เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร.เช่นกัน จึงนำไปสู่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างที่เสนอแก้ไข เป็นร่างที่นายโภคิน ยกร่างขึ้นมา แต่ถูกคว่ำในชั้นกรรมาธิการ หากจะมีการเสนอใหม่ พรรคการเมืองทุกพรรค ที่เคยให้การสนับสนุนว่า  รัฐธรรมนูญต้องร่างใหม่ โดยสสร. ควรสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน มากกว่าที่จะเสนอแก้ไขรายมาตราซึ่งไม่มีเหตุผล ก่อนหน้านั้น ทุกพรรคการเมืองมีมติ ซึ่งมติดังกล่าว นำมาสู่การแถลงข่าวร่วมกันที่รัฐสภา โดยทุกพรรค การเมือง ได้ขึ้นเวทีร่วมกันและแถลงว่าจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร.

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ที่นายวัฒนา เมืองสุข ได้ประกาศลาออกจากพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่า “ภายหลังจากการยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์สาเหตุการลาออกซึ่งผมคิดว่าสมควรที่จะชี้แจงเพื่อความเข้าใจร่วมกัน ดังนี้

(1) หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าการลาออกมาจากความขัดแย้ง นั้น ผมยอมรับว่าความขัดแย้งในพรรคมีอยู่จริง แต่เป็นความขัดแย้งในเชิงความคิด และวิธีการนำพรรคไปสู่เป้าหมายทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน แต่ไม่ใช่ความขัดแย้งจากการแย่งอำนาจบริหาร เพราะพวกผมลาออกจากการเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์มาก่อนแล้ว

2) ส่วนที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าลาออกมาตั้งพรรคสาขาเหมือนไทยรักษาชาติ นั้น ขอให้ความรู้เป็นวิทยาทานว่าขณะนี้รัฐสภาเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ สสร. อันจะทำให้รูปแบบการเลือกตั้งเดิมที่ถูกออกแบบมาให้ประยุทธ์สืบทอดอำนาจต้องจบลง จึงไม่มีเหตุผลที่พวกผมที่เป็นผู้เสนอแนวคิดการตั้ง สสร. จะไร้เดียงสาขนาดลาออกมาตั้งพรรคเพื่อแตกแบ๊งค์ย่อยรองรับรัฐธรรมนูญที่กำลังจะสิ้นผล รวมทั้งไม่ได้ลาออกมาเพื่อจะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น

(3) บริบททางการเมืองหลังยุค คสช. สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิดมากมาย รูปแบบการเมืองจึงไม่ได้ต่อสู้กันเพียงเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังจำแนกออกเป็นฝ่ายราชานิยม อำนาจนิยม จนถึงแนวคิดสุดโต่งแบบสาธารณรัฐ ส่วนผมเชื่อมั่นในแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบราชอาณาจักร ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้

(4) ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากเห็นคือพรรคการเมืองที่มีความเป็นมืออาชีพ เป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นกลไกแสวงหาหาทางออกให้กับสังคม (Solution Provider) เพื่อนำผู้คนออกจากความขัดแย้งไปสู่ปลายทางคือการกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยมีกลไกคือประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม ไม่เอากับเผด็จการทุกรูปแบบและต้องไม่เป็นพรรคการเมืองที่นำประชาชนไปสู่ความขัดแย้งเสียเอง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พรรคไทยสร้างไทย มีจุดยืนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1-2 ตามร่างที่ได้เสนอไว้ต่อคณะกรรมาธิการฯ และพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นชอบจนผ่านวาระ 1-2 ของรัฐสภาแล้ว หากจะมีการแก้ไขรายมาตรา ต้องเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจและขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเป็นสำคัญเท่านั้น