ภาครัฐมั่นใจพร้อมประกาศ “เป็นเมืองหลวงของโลก ด้านการดูแลสุขภาพ” เนื่องจากประเทศไทยสามารถเตรียมพร้อมสู่การเป็นประเทศท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ ด้วยภาพลักษณ์การจัดการด้านสาธารณสุข รับมือภัยระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภาคเอกชนตื่นตัวตอบรับเต็มที่ พร้อมสร้างเม็ดเงินใหม่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จางคลาย ส่วนภาคประชาชนยังมีความกังวลใจในปัจจัยเรื่องจังหวะเวลา ว่าเราพร้อมจริงหรือไม่อย่างไร และกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นประเทศใดบ้าง
ด้วยศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทยที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ได้แสดงให้เห็นต่อสายตาชาวโลกโดยเฉพาะการป้องกันภัยจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้สามารถควบคุมได้ และยังได้รับคำชมจากนานาชาตินั้น คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเมื่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลาย ประกอบด้วย
1. จัดทำแนวทางการรักษาพยาบาลพร้อมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยชาวไทย และชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งรวมผู้ติดตาม โดยแบ่งเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospital Quarantine) กักกันตัวผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในไทย และสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติและผู้ติดตาม
2. เห็นชอบให้ “ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการดูแลสุขภาพ” โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Medical Hub ภายใต้แนวคิด “Healthcare Capital of the World” และกำหนดข้อความสำคัญในการสื่อสารว่า “Beyond Healthcare, Trust Thailand” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกลับเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
3. มาตรการพัฒนาชุดเครื่องมือแพทย์รองรับการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อรับมือและลดโอกาสติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อวิด-19 โดยเน้นการผลิตในประเทศไทย แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ เครื่องมือแพทย์สำหรับการคัดกรองและตรวจสอบโรค เครื่องมือแพทย์สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค เครื่องมือแพทย์สำหรับการคัดแยกและการฆ่าเชื้อ และเครื่องมือแพทย์สำหรับการบำบัดรักษาโรค โดยเน้นการผลิตในประเทศไทย
ในขณะที่ภาครัฐและเอกชนคาดหวังผลในทางบวก เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และก้าวสู่มิติใหม่หลังการระบาดคลี่คลาย แต่ความกังวลของภาคประชาสังคมยังดำรงอยู่ เนื่องจากข่าวสารการเปิดประเทศต้อนรับนักเดินทางท่องเที่ยว ยังไม่เด่นชัด ในแต่ละภูมิภาคยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากโรคระบาด และประเทศไหนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไทยจะรับเข้ามา ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการ แต่ความกลัวโรคทำให้ไม่มั่นใจ คงต้องจับตา รอดูว่าภาครัฐและเอกชนที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้ จะชี้แจงต่อสาธารณชนในรายละเอียดอย่างไรต่อไป
…………………………………………