มติศบศ.เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดประเทศตามโมเดล “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอให้เปิดได้ 1 กรกฎาคมนี้ แต่มีการปรับรายละเอียดจากเดิมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะต้องเที่ยวอยู่ใน จ.ภูเก็ต 7 วัน ขยายเป็น 14 วัน เพราะทางกระทรวงสาธารณสุข มีความกังวลเรื่องสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงสูงอยู่ในประเทศ
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2564 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ครั้งที่ 2/2564 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะมีกำหนดดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยมีกำหนดแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว มีเงื่อนไขดังนี้
1.เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีด มากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่า – ปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ ของกระทรวงสาธารณสุข
2.ให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6 – 18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต
3.มีเอกสารรับรองการ ฉีดจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดย WHO
4.ติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน
5.พำนักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ ในเวลา 14 คืน และภายหลังการ พำนักตามระยะเวลาที่กำหนดสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้
6.รายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรค และสามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน DMHTTA
ขณะเดียวกัน มีการดำเนินการเตรียมพื้นที่รองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวภายใต้แผนการพัฒนาเมืองภูเก็ต (Better Phuket Initiatives) ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์ โครงการสร้างคุณค่าและประสบการณ์โดย การท่องเที่ยววิธีชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการท่องเที่ยว และ การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ ททท. นำเสนอรายละเอียดของแผนการดำเนินงานต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับข้อกำหนดเรื่องเอกสารและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังภูเก็ตนั้นให้เป็นที่ประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ซึ่งเมื่อเห็นชอบจะผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามขั้นตอนก่อไป
ก่อนหน้านี้ มีการพิจารณาจะเสนอขอเปิดพื้นที่ให้ต่างชาติไปท่องเที่ยว ตามโมเดล ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในเส้นทาง seal route เช่นพื้นที่ เกาะพะงัน เกาะสมุย ที่ประชุม ศบศ. ยังไม่เห็นชอบให้อนุมัติเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากต้องขอประเมินสถานการณ์การเปิดประเทศในระยะแรกของ จ.ภูเก็ต ภายใน 2 เดือน หลังเปิดประเทศว่าจะเกิดปัญหาหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาการติดเชื้อสูงขึ้น ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ก็อาจจะพิจารณาเปิดพื้นที่ Seal route
ด้านภาคเอกชน นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต กล่าวว่าในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต ฉีดวัคซีนแล้วราว 300,000 คน ตามกำหนดการรัฐบาล จะต้องจัดสรรวัคซีน แอส ตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค รวมจำนวนทั้งสิ้น 360,000 โดส ให้ จ.ภูเก็ต เร่งฉีดให้ประชาชนภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ เพื่อให้ประชาชนราว 70% มีภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะที่หน่วยงานใน จ.ภูเก็ต มีความพร้อมในการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะศูนย์กระจายวัคซีน ที่ฉีดวัคซีนได้สูงสุดถึง 16,000 โดสต่อวัน กำลังอยู่ระหว่างรอวัคซีนที่จะทยอยเข้ามาเท่านั้น ประเด็นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันว่าจะสามารถกระจายวัคซีนได้ทันตามแผนแน่นอน