ปูมหลัง”ธรรมนัส” จากทักษิณ มาบิ๊กป้อม!! วันผงาด ก่อน 4 ช.วงแตก วันนี้อยู่ยากแล้ว?

1735

หลังจากที่มีการจับตาถึงสัญญาณรอยร้าวในพรรคพลังประชารัฐ สืบเนื่องจากการประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา บริเวณตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ไม่มีรัฐมนตรีคนใดมารอพบ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนที่เคยเป็นมา แต่ที่ตึกบัญชาการรัฐมนตรี

พบว่า “กลุ่ม 3 ช.” นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค พปชร., นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และเหรัญญิกพรรค, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ได้ขึ้นตึกบัญชาการ 1 เพื่อพบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร.

ส่วนทางด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และผอ.พรรค พปชร. ซึ่งปกติวันประชุม ครม.จะเข้าพบ พล.อ.ประวิตร ที่ห้องทำงาน แต่หลังมีกระแสข่าวรอยร้าวภายในพรรค นายสันติกลับแยกตัวออกจากกลุ่มไปรอประชุม ที่ตึกสันติไมตรี ทำให้ยิ่งน่าจับตามากขึ้น ว่ากลุ่ม 4 ช. นั้นวงแตกของจริง บวกกับกระแสข่าวสะพัด ว่าจะมีการย้ายที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ ออกจากตึกที่นายสันติเป็นเจ้าของ ยิ่งทำให้ประเด็นนี้กำลังมาแรง

วันนี้เราจะไปเจาะลึกเรื่องราวของ 1 ในกลุ่ม 4 ช. เริ่มที่ปูมหลังชีวิตของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถือว่าเป็น แกนนำคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐคนหนึ่ง โดยภายหลังเลือกตั้งได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในมือเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งนี้เส้นทางชีวิตในแวดวงการเมือง ของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตา สถานะ ส.ส.-รมต. เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ที่ผ่านนั้น

โดยศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยสถานะความเป็น ส.ส.- รัฐมนตรี ของ “ร.อ.ธรรมนัส” พ้น ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และ มาตรา 170 หรือไม่ สืบเนื่องจากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปี 2563 กรณีถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุกในข้อหา “พัวพันคดีค้ายาเสพติด” และเจ้าตัวตอบโต้ด้วยการกล่าววรรคทองกลางสภาผู้ทรงเกียรติ “สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดรัฐนิวเซาท์เวลส์ อ้างว่าเป็นเฮโรอีนหนัก 3.2 กิโลกรัมมันคือแป้ง”

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคหนึ่ง ( 4) ประกอบ 160 (6) มาตรา 98 (10) และมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) จากกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกพรรคฝ่ายค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนมี.ค. 37 ว่าร.อ.ธรรมนัส มีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติดสั่งคุก 6 ปี แต่จำคุกจริง 4 ปีก่อนถูกเนรเทศกลับประเทศไทย

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ในประเด็นที่ 1 สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้อง (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) ศาลเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษา ของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 98 (10) สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกต้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

ในส่วนเส้นทางการเมือง ร.อ.ธรรมนัส เริ่มต้นทำงานการเมือง เมื่อปี 2542 กับพรรคไทยรักไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตรหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นหัวหน้าพรรค เป็นทีมงานเบื้องหน้า เบื้องหลังทีมยุทธศาสตร์เลือกตั้งให้กับพรรคไทยรักไทย ทีมยุทธศาสตร์เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ทำงานร่วมกับนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ และเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย

ร.อ.ธรรมนัส เข้าใกล้ตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มากที่สุด ในการเลือกตั้งในปี 57 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะถูกคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเสียก่อน และถือเป็นผู้มีอิทธิพล ที่ถูกคสช.เรียกเข้าค่ายทหาร-รายงานตัว เพราะเป็นแม่งานในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง-การ์ดนปช. และยังมีความเกี่ยวข้องกับคนใหญ่ คนโต ในแวดวงธุรกิจรักษาความปลอดภัย ตลาดคลองเตย-ตลาดนัดจตุจักร สลากกินแบ่งรัฐบาล สโมสรฟุตบอลพะเยาเอฟซี จนได้รับสมญานามว่าเป็น “ 5 เสือกองสลาก”

ทั้งนี้ร.อ.ธรรมนัส เคยเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนายทหารคนสนิทของทักษิณ ในฐานะกรรมการบริษัท รักษาความปลอดภัย ที.พี.การ์ด จำกัด ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานกรรมการบริษัท

ส่วนชีวิตในเส้นทางการทหาร “ผู้กองธรรมนัส” ชื่อ-สกุลเดิม นายยุทธภูมิ โบพรหม-นายพชร โบพรหม หรือ นายพชร พรหมเผ่า นายมนัส พรหมเผ่า มีชื่อเล่นว่า “นัท” เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 (ตท.25) และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกันกับ “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” รับราชการครั้งแรกครอง “ยศร้อยโท” หรือ ร.ท.พชร พรหมเผ่า ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ หลังจากนั้นในปี 2536 ร.อ.ธรรมนัสต้องต่อสู้คดีในชั้นศาลออสเตรเลียข้อหาพัวพันยาเสพติดถึง 4 ปี

ในปี พ.ศ.2562 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเลือก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมผ่า เป็นผู้แทนราษฎของประชาชนในเขต 1 จังหวัดพะเยาด้วยคะแนนเสียงจำนวน 52,417 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงมาก

และกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.สายเหนือ เป็นแขนขาประกอบด้วย บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ,จีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา ,ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก ,ภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก ,ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร ,สัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ และวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง

ส่วน ส.ส.พิจิตร 3 คน และ ส.ส.พิษณุโลก อีก 2 คน ก็ยังไม่ชัดว่าอยู่กับกลุ่มผู้กองธรรมนัส เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขาสังกัดกลุ่มสามมิตร

นอกจากนี้ ในภาคอีสาน ส.ส.เขต 11 คน ก็อยู่ในสายผู้กองธรรมนัส 8 คน ที่ดูแลโดย เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และร.อ.ธรรมนัส ยังเก็บเกี่ยว ส.ส.สมัยแรก จากภาคกลาง และภาคใต้ อีกประมาณ 20 คน มาอยู่ในซุ้มผู้กอง แต่จุดอ่อนของ “ส.ส.นกแล” สามารถย้ายไปขั้วไหนก็ได้ คู่แข่งของกลุ่มธรรมนัส คือ “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยคลัง ที่ถอยออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีแรงงาน

อย่างไรก็ตาม น่าติดตามว่าหลังจากนี้เส้นทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะเป็นเช่นไร จะอยู่รอด หรืออยู่ยาก เพราะ “สันติ” เคยเป็น 1 ใน 4 ช. แต่วันนี้ กลาย “ช.” ที่หายไปจากฝั่งธรรมนัส โดยแตะมือกับ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น คู่แข่งของกลุ่มธรรมนัส คือ “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยคลัง ที่ถอยออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีแรงงาน และนายสันติ ก็เลือกที่จะอยู่ข้างนายกฯด้วย