แดเนียล เอลส์เบิร์ก อดีตนักวิเคราะห์ด้านการทหารอาวุโสผู้สร้างชื่อจากการขุดคุ้ย “เอกสารลับเพนตากอน” เปิดเผยสำเนาเอกสารลับที่เผยให้เห็นว่า นักวางแผนกลยุทธ์ของกองทัพสหรัฐเสนอแผนโจมตีจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์เมื่อปี 2501 เพื่อปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของกองทัพคอมมิวนิสต์จีน
เขาเป็นใคร สำคัญอย่างไร? ชายวัย 90 ปีในปัจจุบัน คือนักเปิดโปงความลับของเพ็นตากอนที่โด่งดังคนหนึ่งชื่อ นายแดเนียล เอลส์เบิร์ก อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลของกองทัพสหรัฐฯ โดยนายเอลส์เบิร์กได้เผยแพร่เอกสารของเพนตากอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการเมือง และการทหาร ในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงรัฐบาลของนายจอห์น เอฟ. เคนเนดี ลินดอน จอห์นสัน และริชาร์ด นิกสัน ต่างต้องเสียหน้า
แม้ว่าทั้งเขา และเพื่อนร่วมงาน ต่างมีความผิดในข้อหาเผยแพร่ความลับของทางการ แต่ศาลได้ยกฟ้อง เนื่องจากมีการรวบรวมหลักฐานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และการต่อสู้ของทนายที่ทำให้นายเอลส์เบิร์ก รอดพ้นคดีมาได้ และกลายเป็นบุคคลสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ และประชาธิปไตยในหลายกรณี ทำให้อดสงสัยเล็กๆไม่ได้ว่า คนที่แฉสหรัฐแล้วยังมีชีวิตอยู่ได้นี่ใครกันหนอได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
เมื่อวันเสาร์ที่ 22 พ.ค.2564 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เอลส์เบิร์กนำสำเนาเอกสารนี้เผยแพร่ทางออนไลน์โดยนิวยอร์กไทมส์เป็นผู้รายงานเรื่องนี้เป็นที่แรก เขาบอกว่าตัดสินใจนำเอกสารลับเกี่ยวกับการศึกษาวิกฤติไต้หวันช่วงต้นทศวรรษ 1970 ที่เขาทำสำเนาไว้ ออกเผยแพร่ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากมีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีนเกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน เอกสารลับเหล่านี้อนุญาตให้เปิดเผยต่อสาธารณะเพียงบางส่วนเมื่อปี 2518
เอลส์เบิร์กซึ่งสร้างชื่อจากการเปิดโปงเอกสารลับสุดยอดของเพนตากอนเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ที่เรียกขานในชื่อว่า “เพนตากอนเปเปอร์ส” เมื่อปี 2514 กล่าวว่า นักวางแผนกลยุทธ์ของสหรัฐสันนิษฐานกันว่า สหภาพโซเวียตจะช่วยเหลือจีนและตอบโต้สหรัฐด้วยอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน ซึ่งเป็นราคาที่พวกเขาเห็นว่าคุ้มกับการปกป้องไต้หวัน
ผู้จัดทำเอกสารฉบับนั้นเขียนไว้ว่า หากจีนรุกรานไต้หวัน พลเอกนาธาน ทไวนิง ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐในขณะนั้นกล่าวไว้ชัดเจนว่า สหรัฐจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีฐานทัพอากาศหลายแห่งของจีน ป้องกันไม่ให้แผนการทัพเพื่อขัดขวางทางอากาศของจีนประสบความสำเร็จ และหากแผนนี้ไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานได้ สหรัฐก็ “ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากโจมตีด้วยนิวเคลียร์ลึกเข้าไปในแผ่นดินของจีน เหนือสุดถึงเซี่ยงไฮ้”
อย่างไรก็ดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐในตอนนั้น ตัดสินใจพึ่งพาอาวุธตามแบบก่อน
วิกฤติไต้หวันปี 2501 ยุติลงเมื่อกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหยุดการยิงปืนใหญ่ถล่มเกาะที่อยู่ภายใต้การควบคุมของไต้หวัน ปล่อยให้กองทัพชาตินิยมภายใต้การนำของเจียง ไคเช็ก ควบคุมเกาะนั้น
ทุกวันนี้จีนยังคงถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลกบฏที่สักวันหนึ่งจะกลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่ โดยอาจด้วยการใช้กำลังหากจำเป็น รัฐบาลสหรัฐรับรองจีนเดียวและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อปี 2522 แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลไต้หวันไว้ และถือเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน
สหรัฐมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่บัญญัติว่าสหรัฐต้องช่วยไต้หวันปกป้องตนเองหากเกิดสงคราม แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐใช้นโยบาย “กำกวมทางยุทธศาสตร์” โดยไม่ระบุให้ชัดเจนว่าสภาพการณ์ใดที่จะทำให้สหรัฐเข้าแทรกแซงทางทหารในนามของไต้หวัน
หลายเดือนมานี้ กองทัพอากาศจีนปฏิบัติการแสดงตนเพื่อประกาศอธิปไตย พื้นที่ไต้หวันถี่ขึ้น เมื่อรัฐบาลสหรับออกหน้าหนุนไต้หวันแข็งข้ออย่างโจ่งแจ้ง กองทัพสหรัฐเองก็ปฏิบัติการเดินเรือเพื่อยืนยัน “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในช่องแคบไต้หวันบ่อยครั้งเช่นกัน โดยไม่สนใจจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งจีนถือเป็นการยั่วยูและท้าทายนโยบายจีนหนึ่งเดียวสองระบบ อย่างที่ไม่อาจประนีประนอมได้
คาดว่า อีกไม่นาน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะประกาศยุทธศาสตร์ของเขาเกี่ยวกับจีนและไต้หวัน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นจากประธานิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวินและคณะบริหารของเขา ให้สหรัฐประกาศอย่างเปิดเผยในการปกป้องไต้หวันทางทหาร แม้สหรัฐจะยังไม่แถลงอย่างเป็นทางการ แต่พฤติกรรมอ้างพันธะสัญญาที่ส่งเรือรบมาเลียบเลาะในช่องแคบไต้หวัน และน่านน้ำทะเลจีนใต้ ได้บ่งบอกสถานการณ์คุกรุ่นที่รอวันระเบิดในไม่ช้านี้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน คงไม่ง่ายที่สหรัฐจะตัดสินใจยิงขีปนาวุธใส่จีนตามใจชอบ เพราะวันนี้แสนยานุภาพทางทหารของจีนไม่ด้อยกว่าสหรัฐเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว!!