เลขาศาลรธน.สวนเดือด!โดนก้าวไกลรุมกลางสภาฯ ตอกพวกล้มล้างฯกระทำเยี่ยงคนนอกชาติ

2391

จากที่การประชุมสภาฯ พิจารณารับทราบรายงานประจำปี 2563 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งส.ส.พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล  อภิปรายตั้งคำถามการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น

ทั้งนี้โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เริ่มจากที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลอภิปรายตั้งคำถามต่อความสุจริตต่อการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากพบว่าในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีประเด็นทุจริตจัดซื้อคอมพิวเตอร์มูลค่า 13 ล้านบาท โดยอดีตข้าราชการระดับสูงในฝ่ายบริหาร ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และขอให้ผู้ที่เข้าชี้แจงตอบในกรณีดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายคุณวุฒิด้านการศึกษาของนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่สังคมออนไลน์ตั้งข้อสังเกตต่อประวัติการศึกษา ในเรื่องหลักสูตรการศึกษา ปี 2530 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

“โดยเมื่อค้นข้อมูลจากวิกิพีเดีย พบว่าถูกสั่งปิด เพราะประเด็นปัญหามาตรฐานทางวิชาการ การให้ปริญญา เมื่อปี 2539 และมหาวิทยาลัยดังกล่าวปิดถาวร เมื่อปี 2546 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวได้รับการรับรองจาก กพ. มีความน่าเชื่อถือ และได้รับความรับรองจากสากลอย่างไร

ศาลต้องชี้แจงว่าว่าได้จบจากสถาบันนี้จริงหรือไม่ เพราะบางเอกสารไม่ระบุว่าจบจากสถาบันดังกล่าว ดังนั้นสภาฯต้องเปิดพื้นที่ให้ชี้แจง และนอกจากนั้นในปี 2526 การศึกษาปริญญาโท ระบุว่าจากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกามีข้อสังเกตว่าเอกสารผิดหรือไม่ เพราะไม่มีสถาบันการศึกษาดังกล่าว และมีเพียงชื่อของ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟดีทรอยต์เมอร์ซี่ ทั้งนี้มีคนบอกว่าน่าจะพิมพ์เอกสารผิด และน่าจะเป็นยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ มิชิแกน หรือไม่ หากจบจาก ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟดีทรอยต์เมอร์ซี่ การค้นข้อมูลไม่พบหลักสูตรที่นายปัญญาระบุไว้ จึงต้องให้พื้นที่ชี้แจง” นายวิโรจน์ กล่าว

ด้านนายรังสิมันต์ โรม  อภิปรายพร้อมกับยกกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีทุจริตจากการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเกี่ยวกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จำนวน 281 เครื่อง ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มูลค่า 13 ล้านบาท และพบรายละเอียดว่ามีการกักขังหน่วงเหนี่ยวภายในศาล อย่างไรก็ดีเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับนายปัญญา ที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการฯ ก่อนดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นผู้สั่งให้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวในศาล

“นายปัญญาทำงานใกล้ชิดกับนายเชาวนะ ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะนายปัญญาได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่จึงหลุดคดีนี้ หากผมเป็นนายเชาวนะ คงอิจฉานายปัญญา ที่ไม่ถูกชี้มูล แต่นายเชาวนะ ถูกชี้มูล ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นผมไม่สรุปว่าผิดจริงหรือไม่ แต่กรณีนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผมมองว่าไม่เหมาะสมที่จะมาตัดสินของประชาชน” นายรังสิมันต์ กล่าว

ต่อมานายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ลุกขึ้นชี้แจงบางช่วงว่า ตามที่ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ว่า การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยึดกฎหมาย โดยไม่บิดเบือนหรือสร้างกฎหมายขึ้นมาเองนั้น

“สำหรับคดีล้มล้างการปกครอง การคิดเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ต้องระลึกถึงความเป็นชาติ กระทำเยี่ยงคนในชาติ ไม่ใช่คนนอกชาติ รวมถึงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผลร้ายในประเทศที่จะกระทบต่อคนทุกคน ไม่ใช่เกิดแค่คนกลุ่มน้อย หากพิจารณาประวัติศาสตร์ พบว่าการพัฒนาการเมืองการปกครองไทย ได้ปรับและแก้ให้เป็นไปตามยุคสมัย เป็นการทำหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่และรับผิดชอบต่อบ้านเมืองถึงดำรงความเป็นชาติเป็นไทย

ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 นั้นประจักษ์ชัดว่าต้องการนำไปสู่การไม่รักษากฎเกณฑ์พื้นฐานที่เคารพสักการะสถาบันพระมหากษัตริย์ สาระสำคัญของการกระทำผู้ถูกร้องขัดรัฐธรรมนูญ อยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม และศาลวินิจฉัยอาศัยหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงประกอบไม่ใช่เกิดจากเจตนาอย่างอื่นตามที่วิจารณ์” นายเชาวนะ กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายเชาวนะ ชี้แจงต่อคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองนั้น พบว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลลุกประท้วงเป็นระยะ ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯในฐานะประธานที่ประชุม วินิจฉัยว่า การชี้แจงของนายเชาวนะสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น ตามที่มีข้อกล่าวหาจากการอภิปรายส.ส.