เผยความสัมพันธ์ลับ อาณาจักรพันล้าน “สสส.-ไทยพีบีเอส” สุดแน่นแฟ้น วางตัว “ผอ.ไทยพีบีเอส”

5959

ยิ่งลึก กลิ่นยิ่งแรง!? เผยความสัมพันธ์ลับ อาณาจักรพันล้าน “สสส.-ไทยพีบีเอส” สุดแน่นแฟ้น วางตัว “ผอ.ไทยพีบีเอส”!?

สืบเนื่องจากกรณี เมื่อวันที่ 10 พ.ค.64 ที่ผ่านมา ทางด้านของ “นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที” ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้ยื่นหนังสือ ถึงทางด้านของ “นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” ประธานกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เพื่อสอบถามถึงเหตุผล ที่ไม่ให้ผู้สมัครทั้ง 5 ราย แสดงวิสัยทัศน์ กลับตัดทิ้งจนเหลือแค่ 2 คน

โดยหนึ่งในนั้นคือ “รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล” อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส และคู่แข่งคือ “ผศ.ดร.มานพ กาญจนบุรางกูร” ซึ่งเป็นอดีต ผอ.องค์การสะพานปลา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการแข่งที่ไม่ยุติธรรม หรือ มวยคนละรุ่นเลยก็ว่าได้ เหมือนกับว่าจะการที่จะดัน รศ.ดร.วิลาสินี หรือ อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส เข้ามารับตำแหน่งแบบไม่ต้องมีคู่แข่ง จึงทำให้หลายๆคนต่างสังเกตุว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ ที่ตัดสิทธิ์ นายยุทธิยง ซึ่งทำงานด้านสื่อสารมวลชน มากว่า 30 ปี ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่าสนใจ

ม้ามืดชิงตำแหน่ง “ผอ.ไทยพีบีเอส” แฉยับ ถูกตัดสิทธิ์กลางอากาศ แถมดัน “ผอ.คนเก่า” แข่งกับ “ผอ.สะพานปลา”

ซึ่งจากการสืบค้นย้อนหลังกลับไป เมื่อประมาณ ปี 57 ได้มีประเด็นที่เรียกว่า มีการตั้งคำถามอย่างมากในสังคม แต่ไม่เคยได้คำตอบกลับมาเลย นั่นก็คือ มีเว็บไซต์พระนครสาส์น ได้เปิดเผยข้อมูลว่า มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยต้นสังกัด ต้นสังกัดของ “สถาบันอิศรา” และ “สำนักข่าวอิศรา” ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. 8 ปีซ้อน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.สัญญาเลขที่ 51000250 ชื่อ “โครงการปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” งบประมาณ 14,452,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลาโครงการ 16 ก.พ.2551 -15 ส.ค.2552

2.สัญญาเลขที่ 52000823 ชื่อ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนเพื่อสนับสนุนระบบสื่อสารสุขภาวะ” งบประมาณ 5,590,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลาโครงการ 1 ก.ย.2552 – 28 ก.พ.2554

3.สัญญาเลขที่ 52000849 ชื่อ “โครงการระดมความเห็นเพื่อจัดทำแผนงานปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะที่ดี” งบประมาณ 455,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลาโครงการ 1 ก.ย.2552 – 31 ธ.ค.2552

4.สัญญาเลขที่ 53000103 ชื่อ “โครงการพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” งบประมาณ 1,994,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลา 25 พ.ย.2552 – 30 พ.ย.2553

5.สัญญาเลขที่ 53000157 ชื่อ “โครงการแผนงานส่งเสริมระบบการสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” งบประมาณ 19,670,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลาโครงการ 1 ม.ค.2553 – 30 มิ.ย.2554

6.สัญญาเลขที่ 54000068 ชื่อ “โครงการระดมความเห็นบทบาทสื่อมวลชนต่อการปฏิรูปประเทศไทย” งบประมาณ 1,990,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลาโครงการ 5 พ.ย.2553 – 31 ม.ค.2554

7.สัญญาเลขที่ 54000095 ชื่อ “โครงการศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยเพื่อขยายการรับรู้และการมีส่วนร่วม” งบประมาณ 2,714,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลาโครงการ 19 พ.ย.2553 – 30 พ.ย.2554

8.สัญญาเลขที่ 54000278 ชื่อ “โครงการการจัดเวทีสาธารณะเพื่อสื่อสารประเด็นร่วมสร้างประเทศไทย” งบประมาณ 195,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลาโครงการ 1 มี.ค.2554 – 30 พ.ค.2554

9.สัญญาเลขที่ 54000279 ชื่อ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนเพื่อสนับสนุนระบบสื่อสารสุขภาวะ” งบประมาณ 6,649,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ระยะเวลาโครงการ 1 มี.ค.2554 – 31 ส.ค.2555

10.สัญญาเลขที่ 54000911 ชื่อ “โครงการส่งเสริมระบบการสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” งบประมาณ 18,000,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ระยะเวลาโครงการ 1 ก.ย.2554 – 30 มิ.ย.2556

11.สัญญาเลขที่ 55000186 ชื่อ “โครงการศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ” งบประมาณ 1,700,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ระยะเวลาโครงการ 1 ก.พ.2555 – 31 ม.ค.2556

12.สัญญาเลขที่ 55000948 ชื่อ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนเพื่อสนับสนุนระบบสื่อสารสุขภาวะ” งบประมาณ 4,888,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ระยะเวลาโครงการ 15 ก.ย.2555-14 ก.ย.2556

13.สัญญาเลขที่ 56000569 ชื่อ “โครงการส่งเสริมระบบการสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” งบประมาณ 12,973,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ระยะเวลาโครงการ 1 มิ.ย.2556 – 31 พ.ค.2557

14.สัญญาเลขที่ 56001809 ชื่อ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนเพื่อสนับสนุนระบบสื่อสารสุขภาวะ” งบประมาณ 5,200,000 บาท ผู้รับผิดชอบ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ระยะเวลาโครงการ 1พ.ย.2556-30 เม.ย.2558

รวมเป็นเงินแล้วกว่า 96,470,000 บาท ซึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเข้าไปใหญ่นั่นก็คือ ผู้รับผิดชอบโครงการและเงินสนับสนุนในทุกครั้ง นั่นก็คือ “นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง กรรมการและรองเลขาธิการ ภายในมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ก่อนจะเป็นประธานกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. อยู่ในขณะนี้

ส่งผลให้มองได้ว่าทางด้านของ นายชวรงค์ นั้นค่อนข้างที่จะมีความสัมพันธ์อันดีอย่างมาก กับ สสส. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแล้ว ทางด้านของ นายชวรงค์ ก็ไม่เคยออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ให้สัมภาษณ์ผ่าน มติชนออนไลน์ ว่าตนไม่ขอชี้แจงข้อมูลจากเว็บไซต์พระนครสาส์น เพราะไม่ทราบที่มาที่ไปของเว็บไซต์ดังกล่าว พร้อมตั้งคำถามกลับมายังผู้สื่อข่าวด้วยว่า มติชนจะทำข่าวจากเว็บไซต์เช่นนี้หรือ

นอกจากนี้ประเด็นที่ทำให้หลายๆคนเคลือบแคลงใจการคัดเลือก ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ เข้าไปใหญ่ เห็นทีจะเป็น รายชื่อผู้ท้าชิงตัวเกร็งอันดับหนึ่งนั่นก็คือ “รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล” ที่เคยมีรายชื่อพัวพันกับปมการซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชน กับทางด้านของลูกพี่เก่า ก็คือ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผอ.ไทยพีบีเอส

โดยทางด้านของ รศ.ดร.วิลาสินี ได้ร่วมลงนามในฐานะรอง ผอ.ส.ส.ท. สมัยนั้น อนุมัติการซื้อหุ้นกู้ ซึ่งมองว่าเป็นการขัดระเบียบของ ส.ส.ท. อย่างชัดเจน แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่จัดตั้งโดยบอร์ดนโยบาย ส.ส.ท. เอง ก็ปรากฎว่า “ไม่มีความผิด” แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็น

เพราะที่เป็นประเด็นคือ ทางด้านของ “รศ.ดร.วิลาสินี” ถือว่าเป็นลูกหม้อ “สสส.” และหลายๆคนมักแซวว่า รศ.ดร.วิลาสินี คือหนึ่งในดาวเด่น “ตระกูล ส.” รวมถึงทางด้านของ สามีรศ.ดร.วิลาสินี ก็คือ “นายสุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จึงอาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า รศ.ดร.วิลาสินี ตระกูล ส. และ นายชวรงค์ ที่เคยถูกอ้างว่ารับงบจำนวน 90 กว่าล้าน จาก ตระกูล ส. พยายามผลักดันส่งเสริมกัน โดยอาจมองได้ว่าเรื่องนี้นั้น มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

หลายๆคนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพ ทางทีมข่าว The Truth จะขอย้อนกลับไปอีกทีเมื่อประมาณปี 60 ซึ่งเป็นการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ที่มีปัญหาและผิดปกติเช่นกัน และออกมาในรูปแบบเดียวกัน โดยขณะนั้นได้มีผู้สมัครและรับฟัง วิสัยทัศน์ของผู้สมัครทั้ง 7 คน (เดิมสมัคร 9 คน แต่ถอนตัว 2 คน) และสุดท้ายได้มีการคัดสรรเหลือเพียงแค่ 2 คน ก็คือ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.วิลาสินี

ซึ่งขณะนั้นหลายคนมองว่า นายอดิศักดิ์ เป็นตัวเกร็งและน่าจะได้รับตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส แน่นอนเหมือนนอนมา แต่ผลสุดท้ายไม่ใช่ดั่งใจคิด เมื่อทางผู้สนับสนุน รศ.ดร.วิลาสินี ใช้หนังสือ สตง.เป็นข้ออ้างอีกว่านายอดิศักดิ์เป็นผู้ไปล็อบบี้ให้ สตง.เข้ามาเอาผิดกับ รศ.ดร.วิลาสินี จึงตัดสินใจดัน รศ.ดร.วิลาสินี ขึ้นเบอร์ 1 แล้วเขี่ยนายอดิศักดิ์ออกไปพ้นทาง ด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุม ส่งผลให้สังคมต่างเรียกการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ในครั้งนั้นว่า “ฮั้วแตก” และ “หวยล็อก-หวยเต็ง” และถูกเปรียบเทียบไปถึง การที่ สสส. ส่งหมอฟันที่ไร้ประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนอย่าง ทพ.กฤษดา ขึ้นเป็น ผอ. ไปก่อนหน้านี้แล้ว

จากที่ผ่านมาหลายๆครั้งจนถึงปัจจุบัน การคัดสรร ผอ.ไทยพีบีเอส มีปัญหาเรื่องความใสสะอาดอยู่เสมอ และมักจะถูกมองว่า อาณาจักร สสส. และ ส.ส.ท. มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา