ครม.ทุ่ม 7.8 หมื่นล้าน!?!อนุมัติเพิ่มวงเงินเราชนะ-ม.33 เรารักกันเดือนนี้ กลุ่มไหนเงินเข้าวันไหนต้องรู้ ขณะธกส.พักชำระหนี้

1925

ครม.ไฟเขียวเพิ่มวงเงิน “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” ให้ผู้มีสิทธิ์รายเดิมคนละ 2,000 บาท วงเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท ขยายระยะเวลาใช้สิทธิ์ถึงวันที 30 มิ.ย.2564  และอนุมัติโครงการ”สร้างไทยไปด้วยกัน” เพิ่มจ้างงานในท้องถิ่น วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะธกส.ตอบรับพักชำระหนี้เกษตรกรและปล่อยสินเชื่อกู้ภัยดอกเบี้ยต่ำ

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เพิ่มวงเงินให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ในโครงการ “เราชนะ”ครอบคลุมประชากร 33.5 ล้านคน  และ “ม.33 เรารักกัน”ครอบคลุมประชากรประมาณ 8.11 ล้านคน  โดยเพิ่มเงินอีกคนละ 2,000 บาท โดยแบ่งจ่าย 2 งวด งวดละ 1,000 บาท

สำหรับการโอนเงินของทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ไม่ต้องยืนยันสิทธิ์ ทางการจะโอนเงินตามกำหนดให้ดังนี้คือโครงการเราชนะ ที่ใช้จ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” จะได้รับเงินทุกวันพฤหัสบดี 2 งวดคือ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 : จำนวน 1,000 บาท,วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 : จำนวน 1,000 บาท

โครงการเราชนะ : ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโอนเงินเข้าบัตรประชาชนสำหรับกลุ่มเปราะบาง) จะได้รับเงินทุกวันศุกร์ 2 งวดคือ

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 : จำนวน 1,000 บาท, วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 : จำนวน 1,000 บาท

สำหรับโครงการ ม.33 เรารักกัน : โอนเงินเข้าแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” 

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 : จำนวน 1,000 บาท, วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 : จำนวน 1,000 บาท

ทุกโครงการสามารถสะสมยอดใช้จ่ายได้ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2564 และย้ำว่าไม่มีการเปิดลงทะเบียนใหม่ หรือสมัครใหม่

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการสร้างไทยไปด้วยกัน โดยให้ใช้วงเงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.1ล้านล้านบาท วงเงินประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดเล็กในจังหวัดต่างๆเพื่อเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

ในส่วนโครงการใหม่สำหรับกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ และมีรายได้ค่อนข้างสูง คือ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งรัฐจะสนับสนุน e-Voucher ค่าซื้อสินค้า ค่าอาหาร เครื่องดื่ม และบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ไม่เกิน 5 พันบาทต่อคนต่อวัน สะสมสูงสุดไม่เกิน 7 พันบาทต่อคน โดยการใช้จ่ายจะได้รับ e-Voucher ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 และใช้จ่าย e-Voucher ได้ในเดือน ส.ค. – ธ.ค. 2564 ซึ่งการใช้จ่ายจะดำเนินการผ่าน G-Wallet ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยมาตรการนี้ครอบคลุม 4 ล้านคน เบื้องต้นมีการประเมินว่าหากประชาชนมีการใช้จ่ายเต็มที่ 6 หมื่นบาทต่อคน เพื่อรับ e-Voucher คืนที่ 7,000 บาทต่อคน จะช่วยทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ กว่า 2.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ครม.ได้อนุมัติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาตรการมาช่วยเหลือในช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทั้งหมด 2 มาตรการหลักๆ ได้แก่ 1.พักชำระหนี้ต้นเงิน และ 2.เปิดขอสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อคลายความกังวลใจและลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ โดยลูกหนี้สามารถนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบธุรกิจ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการที่1:พักชำระหนี้ต้นเงิน -ใครมีสิทธิบ้าง?

1.เกษตรกร 2.บุคคล3.ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล)4.สถาบันเกษตรกร5.สหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ)6.กลุ่มเกษตรกร7.กลุ่มบุคคล8.กองทุนหมู่บ้าน หรือชุมชนและองค์กร

เงื่อนไขสำคัญ: โดยผู้ที่เข้าข่ายมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น จะต้องมีสัญญาเงินกู้และมีต้นเงินคงเป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 และเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป และต้องไม่เป็นหนี้ตามโครงการนโยบายรัฐ หรือโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือหรือมีเงื่อนไขตามมาตรการอื่นๆ 

สิทธิที่ได้รับมีอะไรบ้าง?: ธ.ก.ส.ได้พักชำระหนี้ต้นเงิน จะพิจารณาจากการกำหนดงวดชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกร บุคคล สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และนิติบุคคล ซึ่งจะพักชำระต้นเงินออกไป 6 เดือนถึง 1 ปี นับจากงวดที่ถึงกำหนดชำระเดิม และเป็นไปตามความสมัครใจของลูกค้า โดยลูกค้าต้องชำระเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น

มาตรการที่ 2: สินเชื่อสู้ภัย COVID-19-ใครมีสิทธิบ้าง? 1.เกษตรกรรายย่อย 2.ลูกจ้างภาคการเกษตร ที่มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยทั้งสองกลุ่มจะต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการเป็นหนี้นอกระบบ

เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่- วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท – ไม่ต้องใช้หลักประกัน – อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน  – ปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก- ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์การเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินได้ผ่านช่องทาง LINE Official BAAC Family เว็บไซต์ https://www.baac.or.th และ Call Center 0-2555-0555 พร้อมทั้งสามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ผ่าน LINE Official BAAC Family ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564