สามกีบดิ้นนายกรวบอำนาจรมต.! เบิกเนตรนี่ไม่ใช่ครั้งแรก-ปีที่แล้วก็ทำคุมพรบ.ตั้ง 40 ฉบับ

2481

จากที่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564  อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ครม.นั้น

โดยได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราวเฉพาะ

“ส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ

(1) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (2) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 (3) พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 (4) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 (5) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 (6) พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 (7) พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 (8) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ พ.ศ. 2562 (9) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ฯลฯ

ขณะที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19 เสนอให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) นี้”

นอกจากนี้ นายอนุชา ยังกล่าวอีกว่า กรณีครม.เห็นชอบร่างประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายว่า จากประกาศดังกล่าว รัฐมนตรียังมีอำนาจอยู่ ยกเว้นบางเรื่องที่นายกฯ สั่งการได้ จากเดิมที่จะต้องผ่านรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่เป็นการไปยึดอำนาจ จากรัฐมนตรีมาทั้งหมด แต่เป็นการเสริมอำนาจให้นายกฯ สั่งการได้โดยตรงมากกว่า

เมื่อถามว่า ประกาศฉบับนี้รัฐมนตรีจะไม่สามารถอนุมัติหรืออนุญาตได้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้ง 31 ฉบับในประกาศใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ว่านายกฯ อาจจะมีคำสั่งเฉพาะเรื่อง ที่สามารถสั่งการได้โดยตรงได้ จากเดิมที่จะต้องสั่งการไปยังรัฐมนตรีก่อน ขอยืนยันว่าไม่ได้ไปยึดอำนาจรัฐมนตรี แต่เป็นเหมือนให้อำนาจนายกฯ สั่งการได้ด้วย

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อปีที่แล้ว 2563 ก็เคยมีประกาศของราชกิจจาฯ เรื่องอำนาจหน้าที่รัฐมนตรี เป็นของนายกรัฐมนตรีมาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเผยแพร่ ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 แล้วนั้น

“อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563 ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนโดยคุม 40 พระราชบัญญัติ ที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค”

โดยเมื่อวันที่18 พฤศจิกายน 2563 ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศในการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 ดังนี้

การจัดอันดับดัชนีที่แสดงถึงการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 (Global COVID-19 Index (GCI) นั้น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับหนึ่งในโลกในด้านการฟื้นตัวจากการโควิด-19 ซึ่งไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุดในมิติด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และมิติด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index)

มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ของสหรัฐ ซึ่งรายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพ (2019 Global Health Security Index) ที่มีการจัดอันดับประเทศทั้งหมดรวม 195 ประเทศในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก และอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย พร้อมยกย่องว่า ไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดได้มากที่สุด

เว็บไซต์ข่าวชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง U.S. News & World Report ซึ่งได้เผยผลการจัดอันดับประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก ประจำปี 2563 (Best Countries to Start a Business 2020) จัดอันดับให้ไทยเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ จากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติเข้ามาหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น