ธนาคารหน้าเลือดซ้ำเติมพิษโควิด?!?ยึดบ้านพิธีกรช่อง 5ขายทอดตลาดไม่รู้ตัวอีก 30,000 รายรอเชือด ร้องรัฐช่วยด่วน!

4091

โครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้คนไทยต้องเป็นหนี้ตั้งแต่เกิดจนแก่ หลายคนไม่สามารถเป็นเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง จนกว่าจะผ่อนหมด เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ระบาดหนัก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า ปัญหาไร้บ้านเพราะถูกธนาคารยึดเป็นเรื่องน่าเศร้าที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอาจหลงลืม แต่วันนี้สัญญาณร้ายเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว ขณะที่รัฐบาลประกาศนโยบายและมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย4 ที่สำคัญต่อชีวิตของประชาชนคนเล็กคนน้อยมาก จะแก้อย่างไรอย่างทันเหตุการณ์ ไม่ให้เกิดกรณี “คนไทยไร้บ้านเพราะธนาคารหน้าเลือด”

เมื่อวานนี้วันที่ 27 เม.ย. 2564 น.ส.นวินดา บริบูรณ์ พิธีกรรายการคนดีสังคมดี ช่อง 5 ได้จัดแถลงข่าว เนื่องจากเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เดือดร้อน จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บ้านถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด โดยจะมีการขายทอดตลาดวันที่ 12 พ.ค. 64 ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนกว่า 30,000 ชีวิต ไม่มีบ้านอยู่อาศัย

น.ส.นวินดา เล่าว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้เดือดร้อนจากการจะถูกยึดบ้านขายทอดตลาด ในอีกเพียง 10 วันที่จะถึงนี้ (12 พ.ค. 64) ตนผ่อนบ้านไว้กับธนาคารมา 4 ปี พอมาปีที่ 4 เกิดภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ ตนขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ค้างชำระอยู่ 2 เดือน ยอดทั้งหมด 18,500 บาท เมื่อมีเงินพอตนจึงได้เดินทางไปชำระเงิน ซึ่งวันที่ไปนั้นยังไม่เกินกำหนดชำระ แต่ธนาคารปิดระบบทำให้ชำระเงินไม่ได้ ตนจึงติดต่อสำนักงานใหญ่ไป โดยได้คุยกับฝ่ายกฎหมาย แต่กลับได้รับแจ้งมาว่าได้ขายทรัพย์ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ไปแล้ว โดยระบุว่าค้างค่าบ้านแค่ 2-3 เดือน ก็สามารถขายทรัพย์โดยไม่บอกได้ ตนจึงขอร้องให้ช่วยดึงเรื่องกลับมา ซึ่งฝ่ายกฎหมายก็บอกว่าให้หามา 90,000 บาทภายใน 1 เดือน แต่ตนไม่สามารถหาได้ ฝ่ายกฎหมายของธนาคารจึงให้ตนคุยกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ซึ่งได้บอกตนว่า ให้หาเงินจำนวน 250,000 บาท หรือทำการปิดยอดบ้านเลย แต่จำนวนเงินเยอะขนาดนี้ตนไม่สามารถหาได้ทันเวลา จึงเป็นเหตุให้ตนถูกยื่นฟ้อง บังคับคดี ให้ตนขึ้นศาลเพื่อจ่าย 250,000 บาท ซึ่งตนก็ไม่สามารถหามาจ่ายได้ ศาลจึงได้ตัดสิน ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด และชดใช้ดอกเบี้ยธนาคารเพิ่ม รวมเป็นเงิน 2,876,000 บาท จากเดิมเหลือยอดแค่ 2,300,000 บาท ทำให้ตนติดบูโร ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้

อีกทั้งกระบวนการขายทอดตลาดยังเอื้อต่อผู้ประมูล เนื่องจากราคาประมูลทอดตลาดค่อนข้างต่ำ เช่นผู้ประมูลซื้อบ้านไปในราคา 1,400,000 บาท เมื่อกระบวนการขายทอดตลาดเสร็จสิ้น ลูกหนี้ยังต้องหาเงิน 1,500,000 บาท มาผ่อนให้กับ กรมบังคับคดีและบริษัทบริหารทรัพย์สิน ตามคำพิพากษาของศาล หากหามาใช้ไม่ครบก็จะถูกจำคุก เนื่องจากหาเงินมาให้เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นโจทก์ผู้ฟ้องไม่ได้

สุดท้าย กลุ่มคนที่เดือดร้อนจากการถูกขายทอดตลาดในอีก 10 วันข้างหน้า อยากขอให้ภาครัฐช่วยเหลือประชาชนดังนี้

  1. เร่งยกเลิก พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ที่มีผลเรื่องการซื้อขายทอดตลาด ไม่ให้โอกาสลูกหนี้เจรจาประนอมหนี้ แต่กลับขายทรัพย์โดยไม่แจ้ง ด้วยเงื่อนไขจ่ายช้าไป 3 เดือน ทำให้เสียเงินที่ผ่อนมาตลอดกว่าล้านบาทฟรีๆ
  2. จัดหาที่อยู่ให้ผู้ที่ถูกขายบ้านทอดตลาด ให้ได้มีที่อยู่ในช่วง COVID-19 ระบาด ลักษณะบ้านให้เช่า หรือเช่าบ้านตัวเองที่ถูกขายทอดตลาดไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
  3. ยกเลิกการขายทอดตลาด โดยยกเลิก พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541

สรุปก็คือ ขอให้ลูกหนี้ได้มีโอกาศกลับมาผ่อนบ้านของตนเอง ที่กำลังจะถูกขายทอดตลาดได้อีกครั้ง

นอกจากนี้การขายทอดตลาดครั้งนี้ จะทำให้กลุ่มคนกว่า 30,000 คน ที่ประสบเหตุคล้ายๆกัน ไม่มีบ้านอยู่อาศัยอีกด้วย และสิ้นปีนี้จะมีผู้ถูกขายทอดตลาดอีกหลายแสนหลัง ปัญหาเหล่านี้จะเกิดซ้ำขึ้นอีก ถึงเวลาที่ต้องแก้กฎหมาย ให้ประชาชนกลับมาผ่อนบ้านตัวเองได้อีกครั้ง

เรื่องใหญ่ขนาดนี้ต้องถึงมือบิ๊กตู่ คนไทยรอความหวังเฉพาะหน้าจะชะลอความทุกข์ได้อย่างไร พิษโควิดหนักหนาสาหัส ระยะสั้นออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินห้ามยึดก่อนได้ไหม? ระยะยาว กลไกเอาเปรียบของธนาคารพาณิชย์จะคลี่คลายผ่อนปรนได้ไหมอย่างไร? น่าติดตาม