พาณิชย์ลุย “มินิเอฟทีเอ”!?!โหมแผนงาน 343 กิจกรรม ดันการค้าระดับมณฑล-รัฐ คาดปี’64 ส่งออกโต 4%

1592

พาณิชย์ฯ กางแผนผลักดันการส่งออกปี 2564 เตรียมอัดกิจกรรมทำตลาดร่วมภาคเอกชน 343 กิจกรรม ดำเนินการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสส่งออก พร้อมเร่งเจรจาเอฟทีเอ สร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าไทย ทั้งนี้เตรียมเซ็นมินิเอฟทีเอกับมณฑล-รัฐ อย่างน้อย 3 แห่งภายในต้นปี 2564

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการผลักดันการส่งออกในปี 2564 ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนส่งเสริมและผลักดันการส่งออก เพื่อนำเงินเข้าประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งได้กำหนดแผนงานโครงการไว้ชัดเจนหมดแล้ว มีจำนวนรวม 343 กิจกรรม เป็นกิจกรรมที่จะดำเนินการในประเทศ 135 กิจกรรม และในต่างประเทศ 208 กิจกรรม

ทั้งนี้ มีตัวอย่างกิจกรรมที่จะดำเนินการ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมอาหารไทย การเจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือเจรจาการค้าในรูปแบบไฮบริด (นำสินค้าตัวอย่างไปโชว์ และเจรจาซื้อขายทางออนไลน์) และการผลักดันสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของประเทศต่างๆ เช่นAmazonในตลาดสิงคโปร์ และสหรัฐฯLotteในตลาดเกาหลีใต้Tmallเครืออาลีบาบา ในตลาดจีนBigbasketในตลาดอินเดียKhaleang.comในตลาดกัมพูชา

ขณะเดียวกัน จะเร่งเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าไทย อย่างน้อยการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ต้องเดินหน้า วันนี้ศึกษาจบแล้ว รอที่จะขอกรอบการเจรจาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะนับหนึ่งเจรจา เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) จะดำเนินการ ขณะนี้เริ่มศึกษาแล้ว เอฟทีเอไทย-ยูเรเซีย จะเริ่มต้น และเอฟทีเอไทย-เอฟต้า ก็จะทำ รวมทั้งเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ซึ่งเป็นแผนที่จะดำเนินการในปีหน้า

นอกจากนี้ จะใช้นวัตกรรมใหม่ ที่ไม่ใช่การทำเอฟทีเอเฉพาะประเทศกับประเทศ แต่จะเป็นการทำการค้าแบบลงลึก เพราะเอฟทีเอไม่พอ ต้องทำมินิเอฟทีเอ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อเอง เพื่อให้เข้าใจง่าย คือ ประเทศไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน จะทำข้อตกลงทางการค้าเฉพาะกับมณฑล หรือรัฐ หรือเมืองของประเทศใหญ่ๆ ที่มีประชากรมากกว่าบางประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนให้กับผู้ประกอบการของไทย

 “ขณะนี้การเจรจากำลังจะจบ 3 มินิเอฟทีเอ คือ ไทย-ไหหลำ ที่เราเลือกไห่หลำ เพราะจะเป็นฮ่องกงแห่งที่ 2 ของจีน เพราะฮ่องกงวันนี้ ไม่จบ ก็เหมือนจบ ซึ่งเราเร็วที่สุดในโลก เจรจามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เหลือตรวจถ้อยคำ จะเซ็นกันเร็วๆ นี้ ไทย-รัฐเตลังกานา มีประชากรมากกว่าไทย มีธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ที่อินเดียกำลังมีนโยบายทุกคนต้องมีบ้าน ต้องการวัสดุอุปกรณ์ จะเซ็น 18 ม.ค.2564 เพราะครบ 1 ปี ที่พาเอกชนไปเยือน โดยไทยจะได้เงื่อนไขพิเศษหลายเรื่อง และไทยกับเมืองคยองกี ซึ่งเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม มีคนเอเชีย อาเซียนมาก ต้องการสินค้าไทย ตอนนี้เจรจาจบแล้ว กำลังลงนามในอนาคต”นายจุรินทร์กล่าว