ไม่รู้ หรือแกล้งโง่? ย้อนอดีต “ธนาธร” ตีหน้าซื่อ อ้างไม่รู้ถือหุ้นสื่อ ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง มีความผิดอาญาโดนโทษหนัก!?

1964

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายธนาธรถือครองหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ดำเนินคดีอาญา

โดยฟังคำสั่งในวันนี้มีทนายความผู้รับมอบเดินทางมาอัยการ โดยทางสำนักงานคดีอาญา 4 ได้เลื่อนฟังคำสั่งคดีนี้ออกไปเป็นวันที่ 25 พ.ค.เวลา 10.00 น.เนื่องจากกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น

ส่วนทางด้านนายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จากการตรวจสอบทราบมาว่า คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา มีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร ตามที่พนักงานสอบสวนทำความเห็นมาตามขั้นตอนจะต้องส่ง ผบ.ตร.ชี้ขาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง ผบ.ตร.ทำความเห็นว่าจะเห็นด้วยหรือเเย้งหรือไม่ ถ้าเห็นเเย้งมาก็ต้องส่งอัยการสูงสุดชี้ขาดตามกฎหมาย รายละเอียดเหตุผลจึงยังไม่สามารถบอกได้ จึงทำให้เกิดการจับตาถึงเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่า ทางด้านผบ.ตร.จะมีความเห็นแย้ง หรือไม่เห็นแย้ง “คำไม่สั่งฟ้อง” ในครั้งนี้

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธร พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เพาะมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง จากคดีถือครองหุ้นวี-ลัค มีเดีย และอดกลับเข้าสภา โดยย้อนไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ในคดีการถือครองหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด

และในช่วงหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ว่า คำวินิจฉัยของ กกต. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้บริษัท วี-ลัค มีเดีย จะมีการบอกว่าปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2561 และเลิกจ้างพนักงานไปแล้วก็ตาม แต่บริษัทยังสามารถประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น บริษัท วี-ลัค ยังคงประกอบกิจการสื่อในวันที่พรรคอนาคตใหม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง คือ 6 ก.พ. 2562 เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีจดทะเบียนขอยกเลิกกิจการ อีกทั้ง ไม่มีการส่งสำเนาการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไปยังนายทะเบียน ทำให้ นายธนาธร มีลักษณะต้องห้ามในวันลงสมัครรับเลือกตั้ง และวันที่ 8 ม.ค. 2561 ก็เป็นการโอนหุ้นภายในครอบครัว และยังพบพิรุธหลายอย่าง หลังศาลมีการซักถามนายธนาธร และพยาน 10 ปาก ที่ต้องให้การกับศาล โดยมีทั้งแม่ ภรรยา หลาน พนักงาน และคนขับรถของนายธนาธรด้วย

โดยศาลเริ่มต้นอธิบายถึงการไต่สวนพยานทั้ง 10 ปากว่าต้องการทราบว่า การโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดียของนายธนาธรให้กับนางสมพร เกิดขึ้นในวันที่ 8 ม.ค.62 ตามที่นายธนาธรอ้างเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้หรือไม่ พยานทั้ง 10 ปากเป็นทั้งพยานที่รู้เห็นคือผู้อยู่ในเหตุการณ์กับพยานที่เกี่ยวข้องคือพยานที่จะไปดำเนินการต่อหลังโอนหุ้น จากนั้นศาลได้เบิกตัวนายธนาธรขึ้นเป็นพยานปากแรก นายธนาธรยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปบริหารหรือทำธุรกรรมใด ๆ ในบริษัท เป็นเพียงผู้ถือหุ้น หลังจดทะเบียนตั้งบริษัทเป็นเรื่องของกรรมการบริหารจะจัดการ จากนั้นศาลซักถามเหตุผลการกำหนดให้วันที่ 8 ม.ค.62 เป็นวันโอนหุ้นทั้งที่มีภารกิจหาเสียงใน จ.บุรีรัมย์ นายธนาธรกล่าวว่า เดิมวางแผนจะนั่งเครื่องกลับจาก จ.อุบลราชธานี แต่เวลาที่ใช้เดินทางไม่ต่างกันมาก เพราะต้องไปขึ้นเครื่องที่อุบลฯ โดยนั่งรถยนต์มากับนายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถเพียง 2 คน ไม่มีพยานอื่นเดินทางกลับมาด้วย และนัดหมายกับทนายความไว้แล้วในเวลา 17.00 น.

เมื่อถูกซักเรื่องขึ้นเงินเช็คช้า เจ้าตัวโบ้ยว่าไม่เดือดร้อนทางการเงิน ?

นายธนาธร กล่าวว่า ประเด็นที่ถูกซักถามว่าเหตุใดโอนขายหุ้นในเดือน ม.ค.แล้วเหตุใดจึงนำเช็คไปขึ้นเงินเดือน พ.ค. ตนไม่เคยถามและไม่เคยรู้ เพราะมอบหมายให้ภรรยาเป็นผู้จัดการเรื่องการเงินของครอบครัวทั้งหมด อาจเป็นเพราะครอบครัวของตนไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน บางทีเช็คก็ติดเสื้อส่งไปซักแห้งก็ส่งกลับมา เรื่องการนำเช็คไปขึ้นเงินช้าเป็นเรื่องที่ภรรยาจะไปจัดการ จากนั้นฝ่าย กกต.ผู้ร้องได้ซักถามถึงบัญชีเอกสารที่อ้างส่งศาลฯ ไม่มีงบฯ การเงินบริษัทวี-ลัค มีเดีย นายธนาธรตอบอย่างมีอารมณ์ว่า จำไม่ได้เพราะเอกสารเยอะมาก และไม่เห็นว่าการส่งหรือไม่ส่งจะเป็นสาระสำคัญในคดี เช่นเดียวกับเอกสารโอนหุ้นซึ่งติดอากรแสตมป์ลงวันที่ 8 ม.ค.62 เป็นข้อกฎหมายที่ตนไม่ทราบเช่นกัน หากศาลต้องการหลักฐานไปตรวจสอบเพื่อนำมายืนยันได้

เมื่อถูกซักถามว่าเหตุใดจึงไม่อ้างนายชัยสิทธิ์ คนขับรถเป็นพยานบุคคลในชั้นการชี้แจงกับ กกต. นายธนาธรกล่าวว่า ประเด็นบุรีรัมย์มากรุงเทพฯ เกิดขึ้นเพราะตนตอบคำถามนักข่าวผิดเพียงครั้งเดียว จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เรามีทั้งใบสั่งและอีซี่พาส เวลาสัมพันธ์กันหมดทุกช่วงเวลา แต่คนที่จะจัดการว่าใครควรเป็นพยานคือทนายความ 41 ปีในชีวิตนี่เป็นครั้งแรกที่เข้ามานั่งหน้าบัลลังก์ ที่ผ่านมาไม่เคยมีคดีเลย เมื่อถูกถามย้ำถึงการจดแจ้งเลิกกิจการ บ.วี-ลัค มีเดียอย่างเป็นทางการ นายธนาธรกล่าวอย่างหงุดหงิดว่า “จะต้องให้ตอบอีกกี่ครั้งว่าจำไม่ได้”

นอกจากนี้ทนายของนายธนาธร ยังอึกอักไม่รู้ตัวเลขจำนวนหุ้นด้วย จากนั้นมีการไต่สวนพยานปาก 3 คือนายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถของนายธนาธร ชี้แจงว่าทำงานขับรถส่วนตัวให้กับนายธนาธรและภรรยามาแล้ว 2 ปีแล้ว ยืนยันว่าวันที่ 8 ม.ค.ขับรถออกจาก จ.บุรีรัมย์มายัง กทม.จริง ผู้โดยสารในรถมีเพียงนายธนาธรคนเดียว ออกจาก อ.สตึก หลังนายธนาธรขึ้นเวทีปราศรัยเสร็จตอนเช้าประมาณ 11 โมง ถึง กทม.ประมาณ 4 โมงเย็น แต่นายชัยสิทธิ์ไม่ได้เข้าในบ้าน จึงไม่รู้ว่ามีใครอยู่ในบ้านบ้าง แต่สังเกตเห็นว่ามีรถไม่ใช่รถในบ้านมาจอดอยู่ 1 คัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นรถของใคร

ต่อมาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเบิกตัวนางสมพร ขึ้นเป็นพยาน โดยนางสมพรยืนยันว่า การโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.เกิดขึ้นที่บ้านนายธนาธร วันดังกล่าวทราบว่านายธนาธรอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์แล้วจะนั่งรถกลับบ้าน เมื่อตนเดินทางไปถึงพบว่านายธนาธรและนายณัฐธนนท์ไปถึงก่อนแล้ว เพราะนัดไว้เวลา 18.00 น.ได้เตรียมเช็คมา 2 ใบเพื่อชำระค่าหุ้น สั่งจ่ายนายธนาธร 6,750,000 บาท เช็คลงวันที่ 8 ม.ค.62 ไม่รู้ว่าเช็คจะนำไปขึ้นเงินเมื่อไหร่ และนางสมพรได้ชี้แจงถึงการโอนหุ้นให้หลานชาย 2 คน ในวันที่ 11 ม.ค.62 คือนายทวี จรุงสถิตพงศ์ หรือบี และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ หรือเอ

ถัดมานางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ถ้อยคำต่อศาล โดยนางรวิพรรณ ชี้แจงว่าการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัควันที่ 8 ม.ค.62 หลังเซ็นเสร็จนางสมพรเซ็นเช็คจ่ายค่าตอบแทนการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัคให้คุณธนาธรและตนคนละฉบับ เช็คทั้งสองใบตนเองเป็นคนเก็บและนำไปขึ้นเดือน พ.ค.62 ด้วยตนเอง เหตุที่เว้นหลายเดือนเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาจะรวบรวมหลายฉบับแล้วนำไปขึ้นพร้อมกันทีเดียว อย่างในปี 60 มีเคยนำเช็คไปขึ้นทีเดียว 10 ฉบับ การขึ้นเช็คจะไม่มอบให้ใครไปดำเนินการแทน ช่วงนั้นเพิ่งคลอดลูกคนเล็กเดือน ก.ย. จึงต้องเลี้ยงลูกและเห็นว่าเป็นเช็คบริษัทในเครือ ไม่มีปัญหาการเด้งแน่จึงไม่ได้รีบนำไปขึ้น แต่ต่อมาเมื่อเกิดกระแสข่าวเรื่องการโอนหุ้น เมื่อได้รับเช็คที่ทนายนำมาแสดงต่อ กกต.คืน จึงรีบนำไปขึ้นเงิน

ขณะที่ทางด้าน น.ส.ลาวัลย์ จันทร์เกษม ผู้จัดการทั่วไปดูแลสายงานบัญชี บริษัท ไทยซัมมิท โอโต้พาร์ค อินดัสตรี จำกัด ชี้แจงว่าได้ลงนามเป็นพยานการโอนหุ้นวันที่ 8 ม.ค.ไปถึงบ้านนายธนาธรพร้อมกับ น.ส.กานต์ฐิตา และได้ร่วมตรวจสอบตราสารการโอนหุ้นว่าโอนจากผู้โอน ผู้รับโอน ชื่อ มูลค่าหุ้น ถูกต้องหรือไม่และร่วมลงนาม นอกจากนี้ยังเป็นพยานการโอนหุ้นวันที่ 14 ม.ค.ระหว่างนางสมพรกับหลานชายทั้งสองคนที่บ้านนางสมพร ซึ่งมีบ้านอยู่ตรงข้ามกับบ้านนายธนาธร และยังเป็นพยานโอนหุ้นคืนระหว่างหลานชายทั้งสองคนกับนางสมพร วันที่ 21 มี.ค. ทั้ง 3 ครั้ง เมื่อโอนเสร็จจะลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทชี้ไม่แจ้ง บอจ.5 เพราะโอนกันภายใน

แม้นายธนาธร อ้างว่า ในวันสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นายธนาธรไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย แล้วเพราะได้โอนหุ้นให้นางสมพร ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62 แต่จากการไต่สวนพบว่า แบบสำนารายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้าในวันที่ 12 ม.ค.58 และ 21 มี.ค 62 ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวจำนวน 670,000 หุ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 62 จึงมีการส่งสำเนาบอจ. 5 ระบุว่านางสมพรเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าว

และพบข้อชี้แจงว่า การโอนหุ้นที่ปรากฏตามตราสารการโอนหุ้น มีลายมือชื่อ น.ส.ลาวัลย์ จันทร์เกษม น.ส.กานต์ฐิตา อ่วมขำ เป็นพยาน และมีการจ่ายค่าตอบแทนในการโอนหุ้นจำนวน 6.7 ล้านบาท เป็นเช็คธนาคารกรุงศรีฯ ลงวันที่ 8 ม.ค.62 สั่งจ่ายนายธนาธร ต่อมามีการโอนหุ้นให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และโอนกลับคืนให้นางสมพร โดยไม่มีค่าตอบแทน ทำให้ต้องวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่านายธนาธรโอนหุ้นจริงหรือไม่

และจากข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ และคำให้การของนายธนาธร ทำให้ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยคดีนี้ ในวันพุธที่ 20 พ.ย.เวลา 14.00 น. ก่อนที่จะทราบว่า ให้นายธนาธรพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.

จุดเริ่มต้นคดีหุ้นสื่อ เกิดจากวันที่ 25 มี.ค. 2562 หลังจากการเลือกตั้งได้เพียง 2 วัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้เป็น ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่

กระทั่ง 16 พ.ค. 2562 กกต. มีมติเอกฉันท์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ “ธนาธร” ให้สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่

กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า “ธนาธร” เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)’

เนื่องจากพยานหลักฐาน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ “ธนาธร” ถือหุ้น เป็นบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัทพบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณาถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนและยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชี

ขณะที่สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น หรือ บอจ. 5 ที่ กกต.ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 เมื่อ กกต.ประกาศเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562

จึงเท่ากับว่าขณะที่ “ธนาธร” ยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้งยังถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42(3)

และหากเทียบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 จะเห็นชัดว่า นายธนาธรไม่มีคุณสมบัติที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งได้ เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ และอาจจะมีความผิดตามมาตรา 151 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) กรณีที่ผู้ใดรู้อยู่ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต่อไป

 

ทั้งนี้ มาตรา 151 ระบุด้วยว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งรู้ตัวว่า ไม่มีสิทธิแล้วยังสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ซึ่งยังมีข้อเห็นแย้งกันในการตัดสินว่า นายธนาธรอาจจะไม่รู้ในการถือหุ้นสื่อ ก่อนลงเลือกตั้งส.ส. แต่เมื่อมีการตรวจสอบว่าพบชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 และในวันที่ 24 มี.ค. 62 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จึงเกิดคำถามว่า ระหว่างเวลาช่วง 3 วันนั้น ทำไมนายธนาธรจึงไม่ถอนตัว เมื่อทราบว่ามีคุณสมบัติไม่เพียงพอในการลงสมัครส.ส.?

อย่างไรก็ตามต้องรอลุ้นว่าหลังจากนี้ ทางด้านผบ.ตร.จะเห็นแย้งกับคำตัดสินของอัยการหรือไม่ หากไม่เห็นแย้ง นายธนาธรก็รอดจากความผิดนี้ แต่หากมีความเห็นแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ นายธนาธรจะต้องถูกกกต. ตัดสินดำเนินคดีอาญาต่อไป